ตีนเป็ดทะเล

Cerbera odollam Gaertn.

ชื่ออื่น ๆ
ตีนเป็ด, ตีนเป็ดน้ำ (กลาง); ตุม (ตะวันตกเฉียงใต้); มะตะกอ, สั่งลา (ใต้)
ไม้พุ่มกึ่งไม้ต้นหรือไม้ต้นแตกกิ่งต่ำ ทุกส่วนมียางสีขาวคล้ายน้ำนม เปลือกสีเทาดำ มีช่องอากาศตามแนวยาวลักษณะคล้ายตัวหนอน ใบเดี่ยว เรียงเวียนค่อนข้างถี่ รูปใบหอกกลับหรือรูปคล้ายช้อนแกมรูปใบหอกกลับ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามยอด ดอกสีขาว คอและปากหลอดสีเหลืองอ่อนเป็นวงแคบ ๆ มีกลิ่นหอม ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม สุกสีแดงถึงสีม่วงแดงคล้ำ เมล็ดรูปคล้ายกระสวย ค่อนข้างแบน มี ๑ เมล็ด

ตีนเป็ดทะเลเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้นหรือไม้ต้นแตกกิ่งต่ำ สูงได้ถึง ๑๒ ม. ทุกส่วนมียางสีขาวคล้ายน้ำนมเปลือกสีเทาดำ มีช่องอากาศตามแนวยาวลักษณะคล้ายตัวหนอน

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนค่อนข้างถี่ รูปใบหอกกลับหรือรูปคล้ายช้อนแกมรูปใบหอกกลับ กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๙-๒๖ ซม. ปลายมนและเรียวแหลมสั้น โคนรูปลิ่ม


ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนค่อนข้างมันวาว เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน นูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๒๕ เส้น แยกจากเส้นกลางใบในแนวเกือบตั้งฉาก และมักมีเส้นแขนงใบย่อยแทรกในแนวขนาน ปลายเส้นโค้งเชื่อมกันห่างจากขอบใบเล็กน้อย ก้านใบค่อนข้างแข็ง กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๒-๔ ซม. ด้านบนเป็นร่อง

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามยอด เป็นช่อโปร่ง ยาวได้ถึง ๓๕ ซม. ก้านช่อยาว ๘-๑๐ ซม. แกนกลางยาว ๕-๒๕ ซม. ก้านดอกยาว ๑.๒-๔ ซม. ดอกสีขาวมีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปแถบ รูปใบหอก หรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๒.๕-๖ มม. ยาว ๑-๒.๖ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๑.๓-๒.๒ ซม. คอและปากหลอดสีเหลืองอ่อนเป็นวงแคบ ๆ บริเวณกลางหลอดโป่งพอง ภายในคอหลอดมีสันนูนโค้ง ๕ สัน บนสันมีขนประปราย ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก กางออกในแนวราบ แต่ละแฉกรูปไข่เบี้ยวเล็กน้อย กว้าง ๖-๗ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ภายในหลอดกลีบดอกบริเวณกลางหลอด ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูรูปไข่ กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาว ๒-๒.๕ มม. ปลายมีรยางค์แหลมขอบเชื่อมติดกันทางด้านข้างคลุมยอดเกสรเพศเมียรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ รังไข่ แยกเป็นอิสระแต่อยู่ชิดกันเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม ด้านที่อยู่ชิดกันแบนราบด้านนอกโค้งนูน แต่ละรังไข่มี ๑ ถึงกึ่ง ๒ ช่อง มีออวุล ๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเชื่อมติดกันเป็นเส้น ยาวประมาณ ๑ ซม. ยอดเกสรเพศเมียรูปค่อนข้างกลมขนาดประมาณ ๑ มม.

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมผิวมันวาว สุกสีแดงถึงสีม่วงแดงคล้ำ ผลอาจเกิดเป็นคู่หรือเดี่ยว ผนังผลชั้นนอกบาง ผิวมันวาว ผนังผลชั้นกลางเป็นเส้นใย ผนังผลชั้นในหนาและแข็ง แต่ละผลมักมีเมล็ด ๑ เมล็ด รูปคล้ายกระสวยและค่อนข้างแบน

 ตีนเป็ดทะเลมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่าชายเลน ริมน้ำกร่อย หรือป่าชายหาด ที่สูงใกล้ระดับทะเลปานกลาง ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบตั้งแต่ศรีลังกาไปจนถึงนิวคาลิโดเนีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตีนเป็ดทะเล
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cerbera odollam Gaertn.
ชื่อสกุล
Cerbera
คำระบุชนิด
odollam
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Gaertner, Joseph
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1732-1791)
ชื่ออื่น ๆ
ตีนเป็ด, ตีนเป็ดน้ำ (กลาง); ตุม (ตะวันตกเฉียงใต้); มะตะกอ, สั่งลา (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง