ชาฤๅษีใบหอมเป็นไม้ล้มลุกหลายปีถึงไม้กึ่งพุ่ม สูง ๑๖-๔๕ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น ๒-๔ มม. เปลือกสีน้ำตาล โคนค่อนข้างแข็งคล้ายมีเนื้อไม้ มีรอยแผลใบหนาแน่น และมีขนคล้ายใยแมงมุมสีน้ำตาลอ่อนหนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก มี ๔-๖ คู่ เรียงถี่ใกล้ยอด รูปรี รูปใบหอก หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๕-๗ ซม. ปลายแหลม โคนสอบเรียว ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวอ่อน มีขนต่อมหลายเซลล์สั้น ๆ กระจายทั่วไปทั้ง ๒ ด้าน มีเมือกค่อนข้างเหนียวและมีกลิ่นหอมอ่อนเส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น หรืออาจพบได้ถึง ๑๐ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านสั้นมากหรือไร้ก้าน
ช่อดอกแบบช่อกระจุกด้านเดียวเชิงประกอบมี ๒-๓ ช่อ ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอดหรือบริเวณปลายยอด ก้านช่อดอกยาวประมาณ ๙ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๒.๓ มม. มีขนต่อมหลายเซลล์สั้น ๆ หนาแน่น ก้านดอกยาวประมาณ ๗ มม. ดอกที่อยู่ตรงรอยแยกแขนงมีก้านสั้น สีเขียว มีขนต่อมหลายเซลล์สั้น ๆ หนาแน่น ใบประดับรูปคุ่ม กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๐.๘-๑.๑ ซม. ปลายมนกลม โคนพับจีบเล็กน้อย สีเขียว มีขนต่อมหลายเซลล์หนาแน่นกลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ด้านบน ๓ กลีบ รูปแถบถึงรูปรี กว้างประมาณ ๓.๕ มม. ยาว ๗-๗.๕ ซม. ปลายมนโคนเชื่อมติดกัน กลีบด้านล่างอีก ๒ กลีบ รูปใบหอกถึงรูปรี กว้างประมาณ ๓.๕ มม. ยาวประมาณ ๘.๕ มม.
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก ผลแก่บิดเป็นเกลียวเล็กน้อย มีกลีบเลี้ยงติดทนขยายใหญ่หุ้มที่โคน เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก
ชาฤาษีใบหอมเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้พบตามป่าผสมใบในที่ร่มรำไร บริเวณหน้าผาหินทราย ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน.