ขี้ไต้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๐ ม. เปลือกสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นสะเก็ด
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๐.๕-๔ ซม. ยาว ๑-๑๐ ซม. ปลายแหลม โคนสอบเป็นรูปลิ่ม แผ่นใบบาง ด้านล่างมีขนนุ่มตามเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบมีข้างละ ๑๐-๒๐ เส้น เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๓-๕ มม. มีขนนุ่มแล้วค่อย ๆ หลุดร่วงไป
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและดอกเพศผู้ร่วมช่อ ใบประดับเล็กมาก รูปใบหอก ก้านดอกยาวประมาณ ๓ มม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๕ กลีบ มีขน กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาวประมาณ ๑ มม. กลีบดอกสีขาวหรือชมพู ยาวประมาณ ๓ มม. เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ยาว ๕-๗ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปกรวย ยาวประมาณ ๓ มม. มีต่อมตามผิว มี ๕ ช่อง และมีออวุลหลายเม็ด
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๕ มม. แก่จัดสีม่วงเข้มหรือดำ มักมีขนอ่อน ปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ มี ๓-๑๒ เมล็ด เมล็ดรูปโค้งงอ ขนาด ๒-๔ มม. ผิวขรุขระ
ขี้ไต้ในประเทศไทยมีชนิดย่อยอีก ๑ ชนิด คือ D. parviflorum subsp. quadripartitum J. Parnell & E. Nic Lughadha มักเรียก ขี้ไต้ปักษ์ใต้ ชนิดย่อยนี้ต่างกันกับชนิดต้นแบบที่มีจำนวนกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ ๔ กลีบ
ขี้ไต้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามป่าผลัดใบ ป่าดิบ หรือป่าพรุ ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีน อินเดีย พม่า จนถึงภูมิภาคมาเลเซีย และหมู่เกาะโปลินีเซีย ส่วนขี้ไต้ปักษ์ใต้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรอินโดจีนจนถึงมลายู
เนื้อไม้ใช้ทำด้ามเครื่องมือ ใบเป็นยาฝาดสมาน.