เครือเหลืองจางเป็นไม้เลื้อย ลำต้นและกิ่งเป็นสันและร่องสลับกันตามยาว เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่กว้าง กว้าง ๖.๔-๑๓.๕ ซม. ยาว ๘.๕-๑๖.๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลมโคนมนกลมหรือรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นโคนใบ ๕-๗ เส้น เห็นชัดเฉพาะเส้นที่อยู่ใกล้ใคนใบเส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๓.๕-๑๐ ซม. โคนโป่งพอง
ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ช่อตั้งตรง มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น ก้านช่อดอกยาว ๓-๖.๕ ซม. แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๒-๔.๕ ซม.ใบประดับมีลักษณะเป็นเกล็ด บางครั้งอาจพบเป็นรูปแถบ ยาวได้ถึง ๑ ซม. ก้านดอกยาว ๓-๔.๕ ซม. มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ใบประดับย่อยมีลักษณะเป็นเกล็ด ยาวได้ถึง ๓ มม. มักถูกใบประดับบังเกือบมิด ดอกสีขาวนวลหรือสีเหลือง กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ รูปรีหรือรูปแถบแกมรูปใบหอกกลับ กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. ปลายมน แผ่กางออกหรือขอบม้วนลงด้านล่าง ด้านในมีขนกำมะหยี่สีน้ำตาลแดง ด้านนอกมีขนสีนํ้าตาลไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้จำนวนมาก ยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. ก้านชูอับเรณูยาว ๒-๔ มม. เกลี้ยง อับเรณูรูปแถบ ยาว ๒-๒.๕ มม. ส่วนปลายเป็นรูปลิ้น ยาวประมาณ ๑.๕ มม. เกสรเพศผู้วงนอกบางครั้งเป็นหมัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีจำนวนมาก แยกจากกันเป็นอิสระ รูปรีกว้างมีขนสั้นนุ่ม มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๖ มม. มีขนอุยหนาแน่น
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรงรีแกมรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด กว้าง ๔-๔.๕ มม. ยาว ๖-๗ มม. มีขนสีน้ำตาลแกมเหลือง มีก้านสั้น ๆ ที่โคนผล ก้านยอดเกสรเพศเมียติดทน ยาวได้ถึง ๕ ซม. มีขนยาวนุ่มสีเหลืองแกมน้ำตาล เมล็ดขนาดเล็กมาก
เครือเหลืองจางมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามป่าดิบเขาริมลำธารที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐-๑,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนตุลาคมถึงมีนาคมในต่างประเทศพบที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย พม่า จีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน.