ตีนเป็ดทราย

Cerbera manghas L.

ชื่ออื่น ๆ
ตีนเป็ดเล็ก (กลาง); เทียนหนู, เนียนหนู, ปงปง, มะตากอ (ใต้); ปากเป็ด, รักขาว (ตะวันออกเฉียงใต้)
ไม้พุ่มกึ่งไม้ต้นหรือไม้ต้นแตกกิ่งต่ำ ทุกส่วนมียางสีขาวคล้ายน้ำนม เปลือกสีน้ำตาลแกมสีเทา ตามกิ่งมีรอยแผลใบชัดเจน ใบเดี่ยว เรียงเวียนค่อนข้างถี่ รูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปใบหอกกลับ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด ดอกสีขาว คอและปากหลอดดอกสีแดงเป็นวงแคบ ๆ ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีแกมรูปขอบขนาน สุกสีแดงอมส้ม เมล็ดรูปคล้ายกระสวยและค่อนข้างแบน ส่วนใหญ่มี ๑ เมล็ด

ตีนเป็ดทรายเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้นหรือไม้ต้นแตกกิ่งต่ำ สูงได้ถึงประมาณ ๘ ม. ทุกส่วนมียางสีขาวคล้ายน้ำนม เปลือกสีน้ำตาลแกมสีเทา ตามกิ่งมีรอยแผลใบชัดเจน

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนค่อนข้างถี่ รูปรี รูปไข่กลับหรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๒-๖.๓ ซม. ยาว ๕.๕-๒๔ ซม. ปลายมนและเรียวแหลมสั้น หรือปลายมนมีติ่งแหลมสั้นโคนรูปลิ่ม ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบ


บางคล้ายกระดาษไปจนถึงค่อนข้างหนาและเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนค่อนข้างมันวาว เส้นแขนงใบข้างละ ๑๓-๒๔ เส้น ปลายเส้นโค้งเชื่อมกันเป็นเส้นขอบใน ก้านใบเรียวเล็ก ยาว ๒.๕-๖ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด ทั้งช่อยาว ๗-๓๑ ซม. ก้านช่อยาว ๖-๑๕ ซม. แกนกลางยาว ๒-๑๐ ซม. ก้านดอกยาว ๑-๒ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปแถบ รูปใบหอก หรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๑-๑.๗ ซม. กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบ ยาว ๒.๕-๔.๓ ซม. ภายในหลอดมีขนสั้นนุ่ม คอและปากหลอดดอกสีแดงเป็นวงแคบ ๆ ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก กางออกในแนวราบ แต่ละแฉกรูปไข่กลับ ปลายตัดหรือมน กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๑.๕-๓ ซม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ภายในหลอดกลีบดอกบริเวณต่ำกว่าคอหลอดเล็กน้อย ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูรูปไข่ ปลายมีรยางค์เรียวแหลม ขอบเชื่อมติดกันทางด้านข้างคลุมยอดเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ รังไข่ แยกเป็นอิสระแต่อยู่ชิดกันเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม ด้านที่อยู่ชิดกันแบนราบ ด้านนอกโค้งนูน แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุล ๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเชื่อมติดกันเป็นเส้นยาว ๒-๓.๘ ซม. ยอดเกสรเพศเมียรูปค่อนข้างกลม ขนาดประมาณ ๑ มม.

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีแกมรูปขอบขนาน สุกสีแดงอมส้ม ผลอาจเกิดเป็นคู่หรือเดี่ยว ผนังผลชั้นนอกบาง ผิวมันวาว ผนังผลชั้นกลางเป็นเส้นใย ผนังผลชั้นในหนาและแข็ง แต่ละผลมักมี ๑ เมล็ด เมล็ดรูปคล้ายกระสวยและค่อนข้างแบน

 ตีนเป็ดทรายมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าชายหาด ที่สูงใกล้ระดับทะเลปานกลาง ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบทางเอเชียตะวันออก ภูมิภาคมาเลเซีย และทางตอนเหนือของออสเตรเลียไปจนถึงหมู่เกาะแปซิฟิก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตีนเป็ดทราย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cerbera manghas L.
ชื่อสกุล
Cerbera
คำระบุชนิด
manghas
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
ตีนเป็ดเล็ก (กลาง); เทียนหนู, เนียนหนู, ปงปง, มะตากอ (ใต้); ปากเป็ด, รักขาว (ตะวันออกเฉียงใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง