ชาฤๅษีใบก่อ

Paraboea quercifolia Triboun

ไม้ล้มลุกหลายปี เกิดเดี่ยวหรือแตกเป็นกอ โคนลำต้นค่อนข้างแข็งคล้ายมีเนื้อไม้ ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่เป็นกระจุกแน่นคล้ายดอกกุหลาบ รูปรี รูปใบหอก หรือรูปขอบขนาน ทั้ง ๒ ด้านมีขนต่อมเหนียวหลายเซลล์หนาแน่นและมีขนคล้ายใยแมงมุมคลุมบาง ๆ ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกสีม่วง มีจำนวนน้อยและออกเป็นคู่ ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแคบเรียวยาว เมื่อแก่บิดเป็นเกลียวและค่อนข้างเกลี้ยง มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมากชาฤๅษีใบก่อเป็นไม้ล้มลุกหลายปี เกิดเดี่ยว

ชาฤๅษีใบก่อเป็นไม้ล้มลุกหลายปี เกิดเดี่ยวหรือแตกเป็นกอ สูง ๕-๑๐ ซม. โคนลำต้นค่อนข้างแข็งคล้ายมีเนื้อไม้

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่เป็นกระจุกแน่นคล้ายดอกกุหลาบ มี ๑๐-๒๐ ใบ ใบล่างหลุดร่วงเหลือเฉพาะรอยแผลใบ ใบรูปรี รูปใบหอก หรือรูปขอบขนานกว้าง ๒.๕-๓.๕ ซม. ยาว ๓-๖.๕ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนรูปลิ่ม ขอบหยักมน บริเวณใกล้โคนเรียบแผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีน้ำตาล ทั้ง ๒ ด้านมีขนต่อมเหนียวหลายเซลล์หนาแน่นและมีขนคล้ายใยแมงมุมคลุมบาง ๆ โดยเฉพาะตามเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบ และเส้นใบย่อยเส้นแขนงใบข้างละ ๔-๕ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหก้านใบสั้นมากหรือไร้ก้าน

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ มี ๑-๔ ช่อ ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ช่อยาวได้ถึง ๑๕ ซม. ก้านช่อดอกสีแดง ยาว ๖-๑๒ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ มม. มีขนต่อมหลายเซลล์สีแดงค่อนข้างหนาแน่นปลายขนต่อมมีเมือกเหนียวสีเหลือง ก้านดอกยาวได้ถึง ๓ ซม. ดอกที่อยู่คู่กันมักมีก้านดอกไม่เท่ากันก้านมีขนต่อมหลายเซลล์หนาแน่น ใบประดับรูปแถบใบประดับย่อยมีขนาดเล็กมากหรือไม่มี กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๕ มม. โคนเชื่อมติดกันประมาณ ๑ มม. สีเขียวอมน้ำตาล ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่แคบ


ยาวประมาณ ๔ มม. มีขนต่อมหลายเซลล์ค่อนข้างหนาแน่น กลีบดอกคล้ายรูปวงล้อ สีม่วง มีจำนวนน้อยและออกเป็นคู่ โคนเชื่อมติดกัน ยาวประมาณ ๔.๕ มม. ปลายมี ๕ แฉก แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๒ แฉก

รูปไข่หรือรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๕.๕ มม. ปลายมน ซีกล่าง ๓ แฉก รูปเกือบกลมหรือรูปไข่ กว้างและยาว ๖-๗ มม. ปลายมน แฉกกลางปลายคุ่ม เกสรเพศผู้ ๔-๕ เกสร ติดอยู่ในหลอดกลีบดอก เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ ๒ เกสร ก้านชูอับเรณูรูปคล้ายกระบอง กว้างประมาณ ๐.๘ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. สีม่วง ตรงกลางโป่งและโค้งเล็กน้อยอับเรณูสีเหลือง กว้างและยาวประมาณ ๓ มม. เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๒-๓ เกสรเป็นหมัน ลดรูปหรือไม่มีจานฐานดอกรูปวงแหวน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ ยาวประมาณ ๒ มม. มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก มีขนต่อมหลายเซลล์หนาแน่นก้านยอดเกสรเพศเมียสีม่วง ยาว ๓-๔ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มสีเหลืองอมน้ำตาล

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแคบ เรียวยาว กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. มีขนต่อมหลายเซลล์ห่าง ๆ ผลแก่บิดเป็นเกลียวและค่อนข้างเกลี้ยง มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

 ชาฤๅษีใบก่อเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคกลาง พบตามยอดเขาหินปูนที่เปิดโล่ง ที่สูงจากระดับทะเล ๑๐๐-๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชาฤๅษีใบก่อ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Paraboea quercifolia Triboun
ชื่อสกุล
Paraboea
คำระบุชนิด
quercifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Triboun, Pramote
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (fl. 2002)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ