เครือห้าต่อเจ็ดเป็นไม้เถา บริเวณข้อตรงข้ามใบมักมีมือพันเรียวยาว ปลายแหลมหรือแยกเป็น ๒ แฉก ลำต้นเรียวและมีร่อง โคนต้นมักมีเนื้อไม้ เปลือกบางเถากลม เมื่อแก่สีเขียวแกมสีน้ำตาลหรือแกมสีม่วง
ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียน ก้านใบยาว ๑-๕.๕ ซม. มีใบย่อย ๕ ใบ รูปไข่ถึงรูปใบหอก กว้าง ๐.๕-๓ ซม. ยาว ๑.๕-๙ ซม. ปลายแหลม เรียวแหลมหรือยาวคล้ายหาง โคนมนหรือรูปลิ่ม ใบย่อยด้านข้างโคนมักเบี้ยว ขอบหยักซี่ฟันหรือหยักมน ด้านบนสีเขียวเข้มกว่าด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๘ เส้น ใบย่อยใบกลางมีขนาดใหญ่และยาวกว่าใบย่อยด้านข้าง ก้านใบย่อยใบกลางยาว ๐.๕-๑.๓ ซม. ก้านใบย่อยด้านข้างสั้นกว่าหรือเห็นไม่ชัด โดยทั่วไปก้านใบย่อยด้านข้างมักยาว ๐.๒-๑ ซม.
ดอกแยกเพศต่างต้นแกมดอกสมบูรณ์เพศ ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกตามซอกใบหรือตรงข้ามใบ ยาว ๑-๘ ซม. มีใบประดับเล็กมาก ก้านช่อดอกยาว ๑-๕ ซม. ก้านดอกยาว ๒-๔ มม. ดอกเล็ก ขณะตูมคล้ายรูปรีแกมรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๔ มม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ เล็กมาก โคนเชื่อมติดกันคล้ายถ้วย ปลายหยักตื้นและเล็ก เห็นไม่ชัด กลีบดอก ๔ กลีบ สีเขียว รูปไข่ถึงรูปรี กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ มม. ปลายกลีบจุ้มคล้ายเป็นถุงและมักมีติ่ง ขอบกลีบจรดกันในดอกตูม เกสรเพศผู้ ๔ เกสร เรียงตรงกับกลีบดอกก้านชูอับเรณูเรียวเล็กและสั้น ติดใต้จานฐานดอก อับเรณูรูปไข่ สีเหลือง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียหยัก ๔ หยัก ดอกเพศผู้มีจานฐานดอกขนาดใหญ่และขอบหยักลึก ๔ หยัก และมีเกสรเพศเมียที่เป็นหมันขนาดเล็กมากหรือเห็นไม่ชัด ดอกเพศเมียมีจานฐานดอกเป็นวงแหวน มักเห็นไม่ชัด และมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันขนาดเล็กมาก
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๘-๑.๒ ซม. สุกสีม่วงคล้ำเมล็ดเล็ก รูปทรงรีแกมรูปไข่กลับถึงรูปทรงกลม มี (๑-)๒(-๔) เมล็ด
เครือห้าต่อเจ็ดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามภูเขาหินปูน และตามป่าดิบเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๒๐๐-๒,๑๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม เป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน พม่า และจีน.