ตีนเป็ดแดง

Dyera costulata (Miq.) Hook. f.

ชื่ออื่น ๆ
ลูตง (มลายู-นราธิวาส); เยลูตง (มลายู-ยะลา, ปัตตานี)
ไม้ต้นผลัดใบขนาดใหญ่ เปลือกสีเทาดำหรือสีดำ มีเกล็ดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม ทุกส่วนมียางสีขาวคล้ายน้ำนม กิ่งออกเป็นวงรอบ กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยมชัดเจน ใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบ วงละ ๕-๗ ใบ รูปรีถึงรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบรอบข้อใกล้ปลายกิ่ง ดอกเล็ก สีขาว ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียวออกเป็นคู่ รูปทรงกระบอก ปลายสอบมน เมล็ดค่อนข้างแบน รูปทรงรี มีปีกบางโดยรอบ

ตีนเป็ดแดงเป็นไม้ต้นผลัดใบ มีเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง ๓ ม. สูงได้ถึง ๖๖ ม. เปลือกสีเทาดำหรือสีดำมีเกล็ดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม ทุกส่วนมียางสีขาวคล้ายน้ำนมกิ่งออกเป็นวงรอบ กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยมชัดเจน

 ใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบ วงละ ๕-๗ ใบ รูปรีถึงรูปไข่กลับ กว้าง ๓.๕-๑๒.๖ ซม. ยาว ๘-๒๐.๕ ซม. ปลายเรียวแหลมสั้นหรือมนกลม โคนรูปลิ่มหรือมนกลมขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๔-๑๘ เส้น เรียงทแยงขนานกันไปสู่ขอบใบ เห็นเด่นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๒.๒-๔.๖ ซม. ผลัดใบปีละครั้งก่อนออกดอกพร้อมแตกใบใหม่ ใบอ่อนสีชมพู

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบรอบข้อใกล้ปลายกิ่ง ทั้งช่อยาว ๘.๕-๑๐.๕ ซม. ก้านช่อยาว ๖-๗ ซม. แขนงช่อมักออกเป็นชั้น ๆ ดอกบานกลางคืนและร่วงในตอนเช้า ก้านดอกยาว ๒-๓.๓ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. ปลายมน กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๑.๕-๑.๗ มม. บริเวณกลางหลอดป่องเล็กน้อย ด้านในมีขนสั้นนุ่ม ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๓.๗-๔ มม. แฉกกลีบดอกเรียงซ้อนเหลื่อมไปทางซ้าย เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ภายในหลอดดอกบริเวณที่ป่องออก ก้านชูอับเรณูสั้นมากอับเรณูรูปคล้ายใบหอก ช่วงปลายเป็นหมันและมีติ่งแหลมจานฐานดอกเป็นวงเชื่อมติดกับรังไข่ รังไข่กึ่งใต้วงกลีบโคนเชื่อมกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๒ ซีก แต่ละซีกมี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเชื่อมติดกัน ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม อยู่ต่ำกว่าอับเรณู

 ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว ออกเป็นคู่ รูปทรงกระบอก กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๑๔.๕-๓๔.๕ ซม. ปลายสอบมน ผนังผลแข็ง เมล็ดค่อนข้างแบน รูปทรงรี กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๒.๕-๕ ซม. มีปีกบางโดยรอบ

 ตีนเป็ดแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๑๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตีนเป็ดแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dyera costulata (Miq.) Hook. f.
ชื่อสกุล
Dyera
คำระบุชนิด
costulata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm
- Hooker, Joseph Dalton
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm (1811-1871)
- Hooker, Joseph Dalton (1817-1911)
ชื่ออื่น ๆ
ลูตง (มลายู-นราธิวาส); เยลูตง (มลายู-ยะลา, ปัตตานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง