ชาฤๅษีน้อยเป็นไม้ล้มลุกหลายปีกึ่งไม้พุ่ม สูง ๑๐-๒๕ ซม. ลำต้นตั้งตรงหรือทอดเอน กิ่งเรียวเปราะบาง และมีนวล รากเป็นกระจุกฝอย
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากห่าง ๆ มี ๘-๑๔ ใบ รูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๑.๔-๒.๔ ซม. ยาว ๓-๕.๓ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนรูปลิ่ม ขอบค่อนข้างหยักมน แผ่นใบค่อนข้างหนา เหี่ยวง่าย ด้านบนสีเขียว มีขนหลายเซลล์สั้น ๆ หนาแน่น ด้านล่างมีขนคล้ายขนแกะสีน้ำตาลเข้มหนาแน่น โดยเฉพาะตามเส้นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๕ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๑-๑.๓ ซม. สีน้ำตาลขอบแผ่ออกคล้ายปีกเชื่อมกับปีกของก้านใบที่อยู่ตรงข้าม ด้านบนของก้านใบเป็นร่องแคบ ๆ ขนาดเล็กตามแนวยาวไปยังปีกของก้านใบที่อยู่ตรงข้าม มีขนต่อมหลายเซลล์ขนาดเล็กกระจายห่าง ๆ
ช่อดอกแบบช่อกระจุกด้านเดียว มี ๑-๒ ช่อ ออกใกล้ปลายยอดหรือตามซอกใบใกล้ปลายยอดดอกมักออกเป็นคู่ สีขาวอมชมพู สีชมพูอ่อน หรือสีขาวแกมม่วง มีค่อนข้างน้อย ก้านช่อดอกยาว ๑๔-๒๐ ซม. แกนช่อยาว ๑-๑๕ ซม. ใบประดับรูปแถบ กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. สีน้ำตาลอมแดง มีขนคล้ายใยแมงมุมสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อนใบประดับย่อยรูปใบหอกแคบ ขนาดเล็กและสั้น ก้านดอกยาว ๒-๓ ซม. กลีบเลี้ยงรูปถ้วย กว้าง ๕-๖ มม. สีเขียวหรือสีน้ำตาล มีขนคล้ายใยแมงมุม โคนกลีบ
ผลแบบผลแห้งแตก ทรงรูปไข่ ยาว ๑-๑.๔ ซม.มีขนคล้ายใยแมงมุมสีขาวหนาแน่น ผลแก่บิดเป็นเกลียว มีกลีบเลี้ยง ก้านยอดเกสรเพศเมีย และยอดเกสรเพศเมียติดทน ก้านผลยาวประมาณ ๔ ซม. เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก
ชาฤๅษีน้อยเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ พบตามหน้าผาหินปูนที่ชื้นและค่อนข้างร่ม ที่สูงจากระดับทะเล ๗๐๐-๑,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนเป็นผลเดือนตุลาคมถึงธันวาคม.