ขี้แฮดเป็นไม้เลื้อย ลำต้นมีหนาม เลื้อยขึ้นคลุมเรือนยอดของต้นไม้ใหญ่
ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงเวียน แกนกลางยาว ๓๐-๔๐ ซม. หูใบรูปแถบ ยาวประมาณ ๘ มม. ใบประกอบแยกแขนงตรงข้ามกัน ๕-๘ คู่ แต่ละแขนงมีใบย่อย ๖-๑๒ คู่ เรียงตรงข้าม ใบย่อยรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๑.๘ ซม. ยาว ๒.๕-๔ ซม. ปลายแหลม บางครั้งมนและมีติ่งแหลม โคนสอบเบี้ยว ก้านใบย่อยยาวประมาณ ๑ มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ใบประดับรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๕-๗ มม. ยาว ๑.๕-๒ ซม. ปลายแหลม ร่วงง่าย ดอกสีขาวนวล ก้านดอกยาว ๒-๒.๕ ซม. มีขนนุ่ม กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ กลีบล่างสุดเป็นกระพุ้งขนาดใหญ่คลุมกลีบอื่นเมื่อดอกตูม กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กลับ สีขาวนวล ยกเว้นกลีบในสุดสีเหลืองแกมแดง กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๑.๕-๒ ซม. เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูไม่ติดกัน มีขน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรี มีขนตามรอยประสาน มี ๑ ช่อง และมีออวุล ๗-๘ เม็ด
ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๔.๕ ซม. ยาว ๑๐-๑๕ ซม. มีเมล็ด ๖-๗ เมล็ด รูปรี สีดำ กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๑.๘ ซม.
ขี้แฮดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ขึ้นตามป่าโปร่ง ที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน อินเดีย พม่า ลาว และเวียดนาม.