จิกใหญ่เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง ๘-๑๕ ม. เปลือกสีน้ำตาล เรียบหรือแตกเป็นร่องเล็ก ๆตามยาว ตามกิ่งมีช่องอากาศและรอยแผลใบทั่วไป
ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่เป็นกระจุกตามปลายกิ่งรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๙-๑๓ ซม. ยาว ๒๕-๓๗ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม โคนสอบ ขอบจักฟันเลื่อยห่าง ๆ แผ่นใบบาง ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อน ใบอ่อนมีขนประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๑๘-๒๔ เส้น แต่ละเส้นโค้ง ปลายจดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบเป็นสันทางด้านบน เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. ย่นและสีออกน้ำตาลเมื่อแห้ง มีขนนุ่มประปราย
ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งและตามปลายกิ่ง ยาว ๕๐-๙๐ ซม. ห้อยลงก้านช่อดอกค่อนข้างอวบ ใบประดับรูปใบหอก ร่วงง่ายดอกออกตรงข้ามหรือเยื้องกันไปตามก้านช่อ ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็น ๔ แฉก อาจพบ ๓ หรือ ๕ แฉกบ้าง ยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. มีขนนุ่มประปรายทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอก ๔ กลีบ รูปไข่ สีขาว กว้างประมาณ ๕ มม. ยาว ๑.๒-๑.๘ ซม. เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก เป็นพู่ยาว โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเล็กน้อยเป็นรูปวงแหวน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเป็นเส้นยาวเรียว ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปกระสวยหรือทรงรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๒.๕ ซม. ยาว ๓-๔ ซม. มีสันสี่เหลี่ยมตามยาวผล กลีบเลี้ยงและก้านยอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล เมล็ดรูปทรงรี มี ๑ เมล็ด
จิกใหญ่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบใกล้แหล่งน้ำและเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเล ๓๐-๑๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดียและเมียนมา
ประโยชน์ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ.