แดงพรุ

Parastemon urophyllus (Wall. ex A. DC.) A. DC.

ชื่ออื่น ๆ
กายูแมเราะ (มลายู-นราธิวาส); แดง (นราธิวาส)

ไม้ต้นไม่ผลัดใบ โคนต้นมีพอน เปลือกนอกสีน้ำตาล เรียบถึงแตกเป็นสะเก็ดและเป็นร่องลึก เปลือกในสีชมพู กิ่ง อ่อนเกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกแกมรูปรี หูใบรูปสามเหลี่ยม ร่วงง่าย ดอกแยกเพศต่างต้นแกมดอก สมบูรณ์เพศ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ดอกสีขาว ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง สีเหลือง รูปทรงรี สุก สีชมพู มีเมล็ด ๑-๒ เมล็ด


     แดงพรุเป็นไม้ต้นไม่ผลัดใบ สูงได้ถึง ๓๕ ม. โคนต้นมีพอน เปลือกนอกสีน้ำตาล เรียบถึงแตกเป็นสะเก็ด และเป็นร่องลึก เปลือกในสีชมพู กิ่งอ่อนเกลี้ยง
     ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกแกมรูปรี กว้าง ๓-๔ ซม. ยาว ๕-๘ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม มีต่อม ๑ คู่ ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง ทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบด้านล่างนูน มีเส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น ด้านล่างนูน ปลายเส้นแขนงใบเชื่อมติดกับเส้น ถัดไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ประมาณ ๐.๖ ซม. เกลี้ยง หูใบรูปสามเหลี่ยม ยาว ประมาณ ๑ มม. ร่วงง่าย
     ดอกแยกเพศต่างต้นแกมดอกสมบูรณ์เพศ ช่อ ดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ช่อดอกเพศผู้ยาว ๓-๑๑.๕ ซม. แต่ละช่อมี ๑๑-๔๔ ดอก ใบประดับรูป ขอบขนาน กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. ก้านดอกยาว ๑-๑.๕ มม. ดอกสีขาว รูปขอบขนานถึงรูป ไข่ กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ สีเขียวอ่อน โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปขอบขนาน ขอบจดกัน กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. เกลี้ยง กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาว รูป ขอบขนานแกมรูปไข่ ซ้อนเหลื่อมกัน กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. เกลี้ยง ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๕ เกสร ที่สมบูรณ์ ๒ เกสร อยู่ด้านเดียวกัน อีก ๓ เกสร เป็นหมัน อยู่ฝั่งตรงข้าม ก้านชูอับเรณูยาว ๒-๒.๕ มม. อับเรณูติดด้านหลัง ดอกเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนยาวประปราย มี ๑ ช่อง มีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอด เกสรเพศเมียออกที่โคนด้านข้างของรังไข่ เรียวยาว มีขนที่ โคน ปลายเกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียมี ๓ แฉก เกลี้ยง
     ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง สีเหลือง รูปทรงรี กว้าง ประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๑.๒ ซม. เกลี้ยง สุกสีชมพู มีเมล็ด ๑-๒ เมล็ด
     แดงพรุมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทางภาคใต้ พบตามป่าดิบ ป่าพรุ ตามลำธาร ที่สูงจากระดับ ทะเลถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึง กันยายน เป็นผลเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศ พบที่กินี เมียนมา หมู่เกาะอันดามัน และคาบสมุทร มาเลเซีย
     ประโยชน์ เนื้อไม้แข็งและหนักมาก ใช้ในการ ก่อสร้างที่รับน้ำหนัก เช่น คาน รอด ได้ดี.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แดงพรุ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Parastemon urophyllus (Wall. ex A. DC.) A. DC.
ชื่อสกุล
Parastemon
คำระบุชนิด
urophyllus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- (Wall. ex A. DC.)
- A. DC.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (Wall.) ช่วงเวลาคือ (1786-1854)
- A. DC. ช่วงเวลาคือ (1806-1893)
ชื่ออื่น ๆ
กายูแมเราะ (มลายู-นราธิวาส); แดง (นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายเสกสรร ไกรทองสุข
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.