เครือหนามข้อเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง เลื้อยพันต้นไม้อื่นหรือเลื้อยพันเป็นซุ้ม ยอดอ่อนมีขนยาวประปรายถึงค่อนข้างมาก
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีแกมรูปขอบขนานรูปไข่ หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๖-๑๕ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนแหลมถึงป้านหรือมนขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบนและมีขนยาวประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๗ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง และมีตุ่มใบที่มีขนสีน้ำตาลอยู่ตามซอกระหว่างเส้นแขนงใบกับเส้นกลางใบได้ถึง ๔ ตุ่ม หรือไม่มี ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขนสั้นละเอียดนุ่มถึงขนยาว
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามปลายกิ่ง มีดอกประมาณ ๕ ดอกถึงจำนวนมาก ใบประดับขนาดใหญ่สีขาวหรือสีนวล รูปร่างคล้ายใบ ยาว ๐.๕-๒.๕ ซม. ก้านดอกยาวได้ถึง ๔ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแยกเป็นแฉกคล้ายเส้นด้าย ยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขนสั้นนุ่มถึงขนยาวประปรายกลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๒ ซม. ปลายแยกเป็น ๕-๗ แฉก รูปขอบขนานแกมรูปใบหอกกลับ กว้าง ๒-๕ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. เกสรเพศผู้ ๒ เกสร ติดอยู่ภายในหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูส้้นมาก อับเรณูรูปขอบขนานหรือรูปรี รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างรี มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ รูปทรงรี กว้างประมาณ ๗ มม. ยาวประมาณ ๙ มม. สุกสีดำหรือดำแกมม่วง เมล็ดรูปทรงรี ค่อนข้างแบนมี ๑ เมล็ด
เครือหนามข้อมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาคยกเว้นภาคกลาง พบตามป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๙๐๐ ม. ออกดอกเดือนมีนาคม ถึงพฤศจิกายน ผลแก่หลังจากดอกบานประมาณ ๔ เดือน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย บังกลาเทศ พม่า จีนตอนใต้ และลาว.