ติ้วขาวเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๓-๒๐ ม. มีน้ำยางใสสีเหลือง เมื่อแห้งเปลี่ยนเป็นสีดำ เปลือกแตกเป็นสะเก็ด สีน้ำตาล สีน้ำตาลอมเทา หรือสีน้ำตาลอมดำ ลำต้นอายุน้อยมีกิ่งเปลี่ยนรูปเป็นหนาม
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปขอบขนาน รูปใบหอก รูปไข่ รูปใบหอกกลับ หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๔-๑๕ ซม. ปลายแหลม มน มนกลม หรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือมน ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยงและเป็นมันทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีอ่อนกว่า มีต่อมเป็นจุดเล็กมากสีดำ เส้นกลางใบนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๒ เส้น ปลายเส้นโค้งจดเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ มีเส้นแทรกระหว่างเส้นแขนงใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. เกลี้ยง ใบอ่อนสีแดงหรือสีแดงอมน้ำตาล
ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ออกตามกิ่งพร้อมผลิใบ แต่ละช่อมีได้ถึง ๖ ดอก ดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๔-๑.๖ ซม. มีกลิ่นหอมอ่อน ก้านดอกยาว ๕-๘ มม. เกลี้ยง กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เรียงเป็น ๒ วง กลีบวงนอก ๓ กลีบ กลีบวงใน ๒ กลีบ สีแดงหรือสีแดงแกมสีเขียว รูปไข่หรือรูปไข่กว้าง กว้าง ๒.๕-๔ มม. ยาว ๕-๗ มม. หนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง มีเส้นกลีบตามยาวหลายเส้น กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาวหรือสีขาวอมชมพู เรียงซ้อนเหลื่อม รูปไข่กลับหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๑.๔-๑.๗ ซม. โคนกลีบด้านในมีเกล็ดรูปลิ่ม ยาว ๒-๔ มม. ขอบกลีบเป็นชายครุย มีเส้นกลีบตามยาวหลายเส้น เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มีจำนวนมาก เชื่อมติดกันเป็น ๓ กลุ่ม ยาว ๐.๗-๑.๕ ซม. อับเรณูสีเหลือง เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันเปลี่ยนรูปเป็นเกล็ดสีเหลืองหรือสีแดง รูปไข่ ยาว ๑.๕-๒ มม. เรียงสลับกับกลุ่มเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ ยาว ๒-๕ มม. เกลี้ยง มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๓ ก้าน ยาว ๒-๗ มม. ยื่นเหนือหรืออยู่ใต้กลุ่มเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู ทรงรูปไข่หรือรูปทรงรีแกมรูปทรงกระบอก กว้าง ๔-๗ มม. ยาว ๑.๓-๑.๘ ซม. สีเขียว เมื่อแห้งสีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลอมดำ เกลี้ยง มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมี ๖-๘ เมล็ด กลีบเลี้ยงขยายใหญ่และติดทน หุ้มผลประมาณ ๑ ใน ๓ ถึงครึ่งหนึ่งของความยาวผล มีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล ก้านผลยาว ๐.๕-๑.๓ ซม. ผลแก่แตกเป็น ๓ เสี้ยว เมล็ดสีน้ำตาล แบน รูปไข่กลับ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๖-๘ มม. มีปีกบาง
ติ้วขาวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๙๐๐ ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม เป็นผลเดือนมีนาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง ทำฟืนและถ่าน ใบอ่อนและดอกมีรสเปรี้ยวใช้รับประทานเป็นผักสดหรือใช้ประกอบอาหารประเภทแกง เช่น แกงเห็ด
ติ้วขาวมีลักษณะคล้ายติ้วขน [Cratoxylum formosum (Jack) Benth. et Hook. f. ex Dyer subsp. pruniflorum (Kurz) Gogelein] แตกต่างกันที่ทุกส่วนของติ้วขาวเกลี้ยง แต่ติ้วขนมีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน ใบ ก้านดอก และกลีบเลี้ยง.