ขี้แรดกาเป็นไม้เถาหรือไม้พุ่มรอเลื้อย ยาว ๕-๑๕ ม. ลำต้นและกิ่งมีหนามงอโค้ง กิ่งอ่อนมีขนสั้น ๆ ผสมกับขนต่อม
ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงเวียน ก้านใบยาว ๒-๖.๕ ซม. มีต่อมอยู่เหนือบริเวณกลางก้านขึ้นไป หูใบรูปแถบเรียวแคบ กว้าง ๐.๔-๐.๘ มม. ยาว ๒-๓ มม. แกนกลางยาว ๑๐-๓๐ ซม. แกนกลางย่อย ๑๕-๓๓ คู่ ยาว ๑-๔ ซม. มีใบย่อย ๒๕-๖๗ คู่ ใบย่อยรูปแถบแกมรูปขอบขนาน เบี้ยว กว้าง ๐.๓-๐.๕ มม. ยาว ๑.๕-๔ มม. ปลายทู่ โคนตัด เส้นแขนงใบไม่เด่นชัด
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามง่ามใบ ใบประดับรูปช้อนถึงรูปใบหอก ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ดอกเล็ก สีเหลืองอ่อน ก้านดอกสั้นมาก โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นกรวยยาว ๑.๕-๒.๕ มม. ปลายแยกเป็นแฉกรูปไข่ปลายแหลม ๕ แฉก ยาวประมาณ ๑ มม. กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาว ๒-๒.๕ มม. ปลายแยกเป็นแฉก รูปไข่แคบ ๆ ๕ แฉก ยาวประมาณ ๐.๙ มม. เกสรเพศผู้มีมากกว่า ๓๐ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ มีขนคลุม มี ๑ ช่อง ออวุล ๑๒-๑๕ เม็ด
ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปแถบแกมรูปขอบขนาน สีน้ำตาล กว้าง ๒-๒.๕ ซม. ยาว ๑๐-๑๕ ซม. มีเมล็ด ๘-๑๒ เมล็ด แบน รูปขอบขนาน สีน้ำตาลคล้ำ กว้างประมาณ ๖ มม. ยาว ๑.๑ ซม.
ขี้แรดกามีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ตามชายป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากน้ำทะเล ๕๐๐-๑,๐๐๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ผลแก่ระหว่างเดือนตุลาคม-มกราคมของปีถัดไป ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ พม่า ลาว เวียดนาม และอินโดนีเซีย.