ตีนนก

Vitex pinnata L.

ชื่ออื่น ๆ
กะพุน, ตะพุน, ตะพุนทอง, ตะพรุน, ตะพุ่ม (จันทบุรี, ตราด); กานน, สมอกานน, สมอตีนนก, สมอป่า, สมอหิน (รา
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสั้นนุ่มประปราย เปลือกแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ สีเหลืองอมเทาถึงสีน้ำตาลอมเทา ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก มีใบย่อย ๓-๕ ใบ รูปไข่ รูปรี หรือรูปไข่กลับช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนเชิงประกอบ ออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ดอกสีม่วงอมขาว ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม สุกสีดำ เมล็ดรูปทรงรีหรือทรงรูปไข่กลับ ขนาดเล็ก มีได้ถึง ๔ เมล็ด

ตีนนกเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๕ ม. กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสั้นนุ่มประปราย เปลือกแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ สีเหลืองอมเทาถึงสีน้ำตาลอมเทา เปลือกในสีเหลืองอ่อน

 ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากมีใบย่อย ๓-๕ ใบ รูปไข่ รูปรี หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๓-๑๐ ซม. ยาว ๕-๒๒ ซม. ใบย่อยกลางมีขนาดใหญ่สุด ใบย่อยคู่ล่างมีขนาดเล็กกว่าใบย่อยอื่น ปลายมน แหลม หรือเรียวแหลม โคนมน รูปลิ่ม หรือสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนตามเส้นใบด้านล่างมีขนและต่อมประปรายถึงหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๒๐ เส้น นูนเด่นชัดทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได เห็นเด่นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๓-๑๒ ซม. มีขนสั้นนุ่ม ก้านใบของต้นอ่อนมีครีบเล็ก ๆ ในต้นแก่ไม่มีครีบ


ก้านใบย่อยยาว ๑-๕ มม. มีขนสั้นนุ่ม ใบย่อยด้านข้างมักมีก้านสั้นมาก

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนเชิงประกอบ ออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อยาว ๗-๒๐ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๒-๘ ซม. มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ก้านดอกยาว ๑-๒ มม. ใบประดับย่อยรูปใบหอก รูปแถบ หรือรูปแถบแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๕ มม. ยาว ๐.๓-๑ ซม. ปลายแหลมหรือมนกลม มีขนประปรายถึงหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน ดอกสีม่วงอมขาว กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆังหรือรูปถ้วย ยาว ๔-๖ มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่มประปรายถึงหนาแน่น ด้านในเกลี้ยง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมขนาดเล็กด้านนอกมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ด้านในมีขนประปรายหรือเกลี้ยง กลีบดอกรูปปากเปิด ยาว ๑-๑.๕ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ปลายแยกเป็น ๒ ซีก ด้านนอกมีขนประปรายถึงหนาแน่น ซีกบนสีขาวอมม่วง มี ๒ แฉก รูปสามเหลี่ยม ปลายแหลม ซีกล่างมี ๓ แฉก แฉกข้าง ๒ แฉก สีขาวอมม่วง รูปไข่ ปลายมน แฉกกลางขนาดใหญ่สุด สีม่วง รูปไข่กลับหรือเกือบกลม โค้งคล้ายท้องเรือโคนมีขนหนาแน่น เกสรเพศผู้มี ๒ คู่ แต่ละคู่ยาวไม่เท่ากันติดภายในหลอดกลีบดอกใกล้โคนหลอด ก้านชูอับเรณูยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. โคนก้านมีขน อับเรณูสีม่วงดำ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรีหรือรูปทรงค่อนข้างกลม เกลี้ยง มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๐.๗-๑.๕ ซม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉกสั้น

 ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๘ มม. ผลอ่อนสีเขียว สุกสีดำ ผิวเป็นมันโคนผลมีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่ เมล็ดรูปทรงรีหรือทรงรูปไข่กลับ ขนาดเล็ก มีได้ถึง ๔ เมล็ด

 ตีนนกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังและป่าชายหาด ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปีในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เมียนมาภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ เนื้อไม้มีคุณภาพดี แข็งแรง ทนทานใช้ในการก่อสร้าง ทำด้ามเครื่องมือ เปลือกและใบแก้ไข้และแก้ปวดท้อง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตีนนก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Vitex pinnata L.
ชื่อสกุล
Vitex
คำระบุชนิด
pinnata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
กะพุน, ตะพุน, ตะพุนทอง, ตะพรุน, ตะพุ่ม (จันทบุรี, ตราด); กานน, สมอกานน, สมอตีนนก, สมอป่า, สมอหิน (รา
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สมราน สุดดี