ติ้วขนเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๘-๒๐ ม. มีน้ำยางใสสีเหลือง เมื่อแห้งเปลี่ยนเป็นสีดำ เปลือกแตกเป็นสะเก็ด สีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมดำ ลำต้นที่อายุน้อยมีกิ่งเปลี่ยนรูปเป็นหนาม กิ่งอ่อนมีขน
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปขอบขนาน รูปใบหอก รูปไข่ รูปใบหอกกลับ หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๔.๕ ซม. ยาว ๕-๑๓ ซม. ปลายแหลม มน มนกลม หรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือมน ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีอ่อนกว่า มีขนสั้นนุ่มสีขาวทั้ง ๒ ด้าน ด้านล่างหนาแน่นกว่าด้านบน มีต่อมเป็นจุดเล็กมากสีดำ เส้นกลางใบนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๒ เส้น ปลาย
ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ออกตามกิ่งพร้อมผลิใบ แต่ละช่อมีได้ถึง ๖ ดอก ดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๑.๘ ซม. มีกลิ่นหอมอ่อน ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขนสั้นนุ่มสีขาวหนาแน่น กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เรียงเป็น ๒ วง กลีบวงนอก ๓ กลีบ กลีบวงใน ๒ กลีบ สีเขียวหรือสีแดงแกมสีเขียว รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๓.๕ มม. ยาว ๕-๗ มม. หนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านนอกมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น มีเส้นกลีบตามยาวหลายเส้น กลีบดอก ๕ กลีบ สีชมพูหรือสีขาว เรียงซ้อนเหลื่อม รูปไข่กลับหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๘ มม. ยาว ๑.๔-๑.๘ ซม. โคนกลีบด้านในมีเกล็ดรูปลิ่ม ยาว ๓-๔ มม. ขอบกลีบเป็นชายครุย มีเส้นกลีบตามยาวหลายเส้น เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มีจำนวนมาก เชื่อมติดกันเป็น ๓ กลุ่ม ยาว ๐.๗-๑.๕ ซม. อับเรณูสีเหลือง เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันเปลี่ยนรูปเป็นเกล็ดสีเหลืองหรือสีแดง รูปไข่กว้างหรือรูปเกือบกลม ยาวประมาณ ๑.๕ มม. เรียงสลับกับกลุ่มเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ ยาว ๒-๕ มม. เกลี้ยง มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลหลายเม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๓ ก้าน ยาว ๒-๘ มม. ยื่นเหนือหรืออยู่ใต้กลุ่มเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู ทรงรูปไข่หรือรูปทรงรีแกมรูปทรงกระบอก กว้าง ๕.๕-๘ มม. ยาว ๑-๑.๗ ซม. สีเขียวหรือสีแดงแกมสีเขียว เมื่อแห้งสีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลอมดำ เกลี้ยง มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมี ๖-๘ เมล็ด กลีบเลี้ยงขยายใหญ่และติดทน หุ้มผลประมาณ ๑ ใน ๓ ถึงครึ่งหนึ่งของความยาวผล ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม มีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล ก้านผลยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. มีขนสั้นนุ่ม ผลแก่แตกเป็น ๓ เสี้ยว เมล็ดสีน้ำตาล แบน รูปไข่กลับ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๖-๘ มม. มีปีกบาง
ติ้วขนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง
ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับให้ร่มเงา เนื้อไม้ใช้ก่อสร้าง ทำฟืนและถ่าน.