จิกเลเป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๑๕-๒๐ ม. ลำต้นเป็นปุ่มปม แตกกิ่งต่ำ เรือนยอดเป็นพุ่มแน่นทึบแผ่กว้าง เปลือกสีชมพูอ่อนหรือสีเทาอ่อน เปลือกในสีขาวและมีเส้นสีเหลืองอ่อนตัด ตามกิ่งมีช่องอากาศและรอยแผลใบทั่วไป กิ่งอ่อนสีชมพูหรือแดงเรื่อ ๆ
ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่เป็นกระจุกตามปลายกิ่งรูปไข่กลับแกมรูปใบหอกกลับ กว้าง ๙-๒๐ ซม. ยาว ๒๐-๔๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นห่าง ๆ แผ่นใบหนา ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมันด้านล่างสีเขียวอ่อน เส้นกลางใบด้านบนเป็นสัน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๔ เส้น แต่ละเส้นโค้ง ปลายเส้นจดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ ใบอ่อนสีชมพูเรื่อ ตัดกับเส้นแขนงใบสีชมพูเข้ม ใบแก่จัดก่อนร่วงสีออกเหลืองหรือส้ม ก้านใบยาวประมาณ ๒ มม. โคนก้านใบย่นและสีออกน้ำตาลแดงเมื่อแห้ง
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งและตามปลายกิ่ง ยาว ๒๐-๓๐ ซม. แต่ละช่อมี ๔-๒๐ ดอก ใบประดับรูปใบหอก ร่วงง่าย ดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๕ ซม. ก้านดอกยาว ๕-๙ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๒-๓ แฉก ยาวประมาณ ๓ ซม. กลีบดอก ๔ กลีบสีขาว รูปช้อนหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๕-๗ ซม. เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก เป็นพู่ยาว ปลายสีชมพูเรื่อ ๆ ก้านชูอับเรณูสีขาว โคนก้านชูอับเรณูติดกันเล็กน้อยเป็นรูปวงแหวน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒-๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเป็นเส้น ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่กลับ แข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๗-๑๐ ซม. โคนผลรูปสี่เหลี่ยมกว้างแล้วสอบแคบไปทางปลาย กลีบเลี้ยงและก้านยอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล ผนังผลชั้นกลางเป็นเส้นใยหนาและแข็ง เมล็ดรูปทรงรี มี ๑ เมล็ด
จิกเลมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามป่าชายหาด ที่สูงจากระดับทะเล ๑๐-๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและตามชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก
ประโยชน์ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เปลือกต้นและผลใช้เบื่อปลา.