เครือไส้ไก่เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลางเถาประมาณ ๒๐ ซม. เปลือกเรียบ เมื่อยังอ่อนมีตุ่มละเอียดทั่วไป
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กว้างจนถึงเกือบกลม กว้างและยาว ๖-๑๑ ซม. ปลายมนหรือแหลม โคนมนหรือรูปหัวใจ ขอบเป็นคลื่นหยักโค้งห่าง ๆ แผ่นใบสากด้านล่างบางครั้งมีนวล เส้นโคนใบ ๓-๕ เส้น ก้านใบ ยาว ๕-๑๒ ซม.
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกตามลำต้นจากจุดเดียวกัน มี ๑-๕ ช่อ ยาวได้ถึง ๕๒ ซม. ช่อดอกย่อยมีจำนวนมาก ยาว ๒-๓.๕ ซม. เรียงสลับบนแกนช่อดอก แต่ละช่อย่อยมี ๖-๑๐ ดอก ดอกสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ดอกเพศผู้ก้านดอกยาว ๒-๔ มม. กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ ยาวประมาณ ๓ มม. เรียงเป็น ๒ วง วงละ ๓ กลีบ วงนอกรูปรี วงในรูปรีกว้างกลีบดอก ๖ กลีบ รูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายกลีบแหลมหรือหยักเว้า เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ยาวประมาณ ๒ มม. อับเรณูแตกตามขวาง ดอกเพศเมียมีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกเหมือนดอกเพศผู้ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๖ เกสร ลักษณะเป็นเส้นกลมยาว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ รังไข่ แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง ออวุล ๑-๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียโค้ง ขอบหยักซี่ฟัน
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปเกือกม้า กว้าง ๐.๘-๑.๑ ซม. ยาว ๑.๔-๒ ซม. ปลายมน โคนสอบมนมี ๑-๓ ผล ผลมีสันโค้ง ๒ สัน ตรงกลางเป็นร่อง ผิวหยาบหยักเป็นร่องนูนตํ่าทั่วผล สุกสีเหลืองหรือสีส้มเมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด
เครือไส้ใก่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบขึ้นในป่าดิบชื้น อาจพบตามริมนํ้า ป่าเบญจพรรณ ตลอดจนป่าไผ่ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๑,๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์.