ตองใบใหญ่เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๗ ม.
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กลับ กว้าง ๔-๒๑.๕ ซม. ยาว ๙.๕-๕๖ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงเป็นติ่งแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบหยักฟันเลื่อยไม่ชัด ปลายหยักมีต่อม แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนมีต่อมที่โคน ด้านล่างมีต่อมใกล้ปลายใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๙-๓๒ เส้น โค้งและเชื่อมกันใกล้ขอบ เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาว ๐.๖-๑.๕ ซม. หูใบรูปสามเหลี่ยมโค้งคล้ายเคียวกว้าง ๒.๕-๔ มม. ยาว ๐.๖-๑.๒ ซม. ร่วงง่าย
ดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ช่อห้อย ดอกเล็ก กลีบเลี้ยงเรียงจดกันในดอกตูม เมื่อบานปลายโค้งพับลง ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ช่อดอกเพศผู้ยาวได้ถึง ๔๒ ซม. แต่ละข้อมีดอกเพศผู้ ๒-๔ ดอก สีขาวหรือสีนวล เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. ก้านดอกยาว ๒.๖-๘ มม. มีขนค่อนข้างหยาบแข็ง กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ พบน้อยมี ๒ หรือ ๔ กลีบ รูปไข่ กว้าง ๑.๓-๓.๒ มม. ยาว ๒.๘-๓.๑ มม. เกสรเพศผู้ ๑๖-๒๖ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๒.๘-๓ มม. สีขาวนวล อับเรณูมี ๒ ช่อง กว้าง ๐.๗-๑ มม. ยาว ๐.๘-๑.๒ มม. แกนอับเรณูอาจมีรยางค์สั้นที่ปลาย ยาวไม่ถึง ๐.๒ มม. ไม่มีเกสรเพศเมียเป็นหมัน ช่อดอกเพศเมียยาวได้ถึง ๙๐ ซม. แต่ละข้อมีดอกเพศเมีย ๑ ดอก สีเขียวถึงสีเหลืองแกมสีเขียวอ่อน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๘-๔.๘ มม. ก้านดอกยาวได้ถึง ๑ ซม. มีขนค่อนข้างหยาบแข็ง กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ กว้าง ๐.๓-๒ มม. ยาว ๑.๕-๓.๒ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๖-๔.๖ มม. มี ๓-๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๐.๒-๒ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยก ๓ แฉก แต่ละแฉกยาว ๐.๖-๑.๓ ซม.
ผลแบบผลแห้งแตก สีเขียวถึงสีเขียวอมเหลืองอ่อน รูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๐.๖-๑ ซม. ยาว ๑.๓-๑.๗ ซม. มี ๓ พู ด้านนอกมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น สีขาวนวลถึงสีเทา เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๙ มม. ไม่มีเยื่อหุ้มเมล็ด
ตองใบใหญ่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าผสมผลัดใบ ป่าดิบ ตามสันเขา ที่ลาดชัน ริมน้ำ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๗๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและภูมิภาคมาเลเซีย.