ชงโคชนิดนี่เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๐ ม. กิ่งอ่อนเกือบเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีกว้างหรือเกือบกลม กว้าง ๕-๑๕ ซม. ยาว ๑๖-๑๘ ซม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉก ปลายสุดหยักมน เว้าลงมาตามเส้นกลางใบประมาณหนึ่งในสามหรือครึ่งหนึ่งของความยาวแผ่นใบ โคนกลมถึงรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนเล็กน้อย เส้นโคนใบ ๙-๑๑ เส้น นูนทางด้านล่างเส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๒-๔ ซม. หูใบขนาดเล็ก รูปสามเหลี่ยม ยาว ๑-๒ มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ยาว ๖-๓๐ ซม. ออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง มี ๕-๑๒ ดอก ใบประดับและใบประดับย่อยรูปไข่ ปลายแหลมยาว ๑-๒ มม. ก้านดอกยาว ๑-๑.๕ ซม. ดอกตูมสีเขียวแกมเทา รูปกระบอง ยาว ๓-๕ ซม. มีขนอ่อนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ ตรงปลายมีสัน ๔-๕ สัน และบิดเล็กน้อย ฐานดอกยาว ๐.๗-๑.๒ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ สีเขียวแกมเทา รูปรี โคนเชื่อมติดกัน กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๑.๕-๒ ซม. เมื่อดอกบานแยกด้านเดียวคล้ายกาบ กลีบดอก ๕ กลีบ สีชมพูหรือสีชมพูแกมม่วง
ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝักแบนรูปแถบ ตรงหรือโค้งเล็กน้อย กว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๒๐-๓๓ ซม. ปลายมีติ่งแหลม โค้งเล็กน้อย เกลี้ยงเมล็ดแบน รูปทรงค่อนข้างกลมหรือรูปทรงรี กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. สีน้ำตาล มี ๖-๑๐ เมล็ด
ชงโคชนิดนี่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นได้ทั่วไปในเขตร้อน ออกดอกเกือบตลอดปี
ประโยชน์ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ในภูฏานใช้เปลือกย้อมสีและฟอกหนัง ใบใช้เป็นอาหารสำหรับวัวควาย ในอินเดียใช้เปลือกฟอกหนัง รักษาโรคเกี่ยวกับต่อมน้ำเหลือง เป็นยาแก้พิษ ฝาดสมาน ขับลม ขับปัสสาวะ และแก้ท้องเสีย ใบใช้เป็นยาแก้ไอ ดอกเป็นยาระบาย ใบอ่อนกินได้ ใช้ใส่แกงและทำผักดองในมาเลเซียใช้ใบพอกรักษาฝีหรือรอยฟกช้ำ เปลือกและกิ่งมีเส้นใยเหนียวใช้ทำเชือก.