ครามชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกหลายปี มีเหง้า ขึ้นเป็นพุ่ม สูง ๐.๕-๑ ม. กิ่งอ่อน ใบ และช่อดอกมีขนสั้นรูปตัวที (T) ปลายทั้ง ๒ ข้างของขนมีขนาดใกล้เคียงกัน
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียนยาว ๒.๕-๑๕ ซม. ก้านใบยาว ๑-๕ ซม. ใบย่อย ๗-๑๓ ใบ เรียงตรงข้าม รูปรีถึงรูปไข่กลับ กว้าง ๐.๔-๑.๗ ซม. ยาว ๑-๓ ซม. ปลายมนหรือหยักเว้า โคนสอบ ขอบเรียบแผ่นใบด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนประปราย ด้านล่างมีขนหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๗ เส้น เห็นไม่ชัด ก้านใบย่อยยาว ๑-๕ มม. มีขนสีเทา หูใบและหูใบย่อยรูป เรียวแหลม ขนาดเล็ก ร่วงง่าย
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ยาว ๑-๕ ซม. ใบประดับรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๑ มม. ก้านดอก ยาว ๑-๒ มม. ดอกรูปดอกถั่ว ยาวประมาณ ๕ มม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๒ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ขนาดใกล้เคียงกันมีขนสั้น กลีบดอก ๕ กลีบ สีเขียวแกมชมพู กลีบกลางรูปไข่กลับ กว้างและยาวประมาณ ๔ มม. กลีบคู่ข้างโคนเรียว ส่วนที่ค่อนไปทางปลายรูปขอบขนานและโค้งเล็กน้อย ยาวประมาณ ๕ มม. กลีบคู่ล่างติดกันเป็นรูปท้องเรือ ยาวใกล้เคียงกับกลีบคู่ข้าง เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ยาวประมาณ ๓ มม. เชื่อมติด ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกมี ๙ เกสร ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน ส่วนอีก ๑ เกสร แยกเป็นอิสระ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบรูปรี มีขนสั้นหรือค่อนข้างเกลี้ยง มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวโค้ง ยาวใกล้เคียงกับเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝักตรงหรือโค้งเล็กน้อย กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๒-๓.๕ ซม. เกลี้ยงหรือมีขนประปราย ปลายเป็นติ่งแหลม เมล็ดเล็กมี ๘-๑๒ เมล็ด สีน้ำตาลเข้ม
ครามชนิดนี้เป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคตะวันออกกลาง นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยและกระจายพันธุ์ไปทั่วทุกภาคพบตามที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ส่วนใหญ่ออกดอกและเป็นผลเดือนเมษายนถึงมิถุนายน
ประโยชน์ ครามชนิดนี้เป็นพืชเศรษฐกิจ ให้สีย้อมผ้าที่มนุษย์รู้จักใช้กันมาแต่โบราณ.