ขัน

Paranephelium macrophyllum King

ชื่ออื่น ๆ
กะท้อนลิง, คัน (ใต้); กะฮาร์ (มลายู-ยะลา); กุปิงยะชิ (มลายู-ปัตตานี); ตะคร้าหนาม (ใต้)
ไม้ต้น เปลือกเรียบ สีน้ำตาล ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ มีใบย่อย ๗-๑๑ ใบ รูปรี ไม่มีตุ่มใบ ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ซอกใบหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งดอกสีขาวหรือสีชมพู กลิ่นหอม กลีบดอกด้านในมีเกล็ด ๑ เกล็ด ผลคล้ายผลแห้งแตก แตกกลางพูหรือแตกอย่างไม่เป็นระเบียบ รูปทรงรี สีน้ำตาลปนเทาหรือสีเทาเงินถึงสีแดง ผิวเป็นหนามหยาบหนาแน่น เมล็ด ๑ เมล็ด รูปกลมแป้น ไม่มีเยื่อหุ้ม

ขันเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. พบบ้างที่เป็นไม้พุ่มเปลือกเรียบ สีน้ำตาล ตาและยอดอ่อนมีขนสั้นหนานุ่ม

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ก้านใบยาว ๑๑-๒๐ ซม. มีใบย่อย ๗-๑๑ ใบ รูปรี กว้าง ๓-๑๓ ซม. ยาว ๖-๓๒ ซม. ปลายเว้าตื้น มนกว้าง หรืออาจพบเรียวแหลมบ้าง โคนมนกว้างถึงสอบเรียว โดยเฉพาะใบย่อยที่ยอด โคนเป็นรูปลิ่ม ขอบหยักซี่ฟัน สูงได้ถึง ๔ มม. ใบอ่อนสีชมพูถึงสีแดง ใบแก่หนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีอ่อนกว่า เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบเป็นร่องลึกทางด้านบน เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นไม่ชัด เส้นแขนงใบข้างละ ๑๕-๒๒ เส้น ปลายเส้นถึงขอบหยักซี่ฟัน ไม่มีตุ่มใบ ก้านใบย่อยยาว ๐.๕-๒.๗ ซม.

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ซอกใบหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งช่ออวบและมักเป็นช่อเดี่ยว ยาวได้ถึง ๖๐ ซม. มีขนสั้นหนานุ่ม ดอกสีขาวหรือสีชมพู กลิ่นหอม สมมาตรตามรัศมีใบประดับยาวประมาณ ๑.๕ มม. กลีบเลี้ยงสีแดงหรือสีชมพูสด โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมหรือรูปไข่ กว้าง ๑.๒-๒.๓ มม. ยาว ๑-๒.๑ มม. กลีบดอก ๕ กลีบ รูปสามเหลี่ยมกลับหรือรูปค่อนข้างกลม กว้าง ๐.๘-๑.๘ มม. ยาว ๑-๒ มม. ไม่มีก้านกลีบ ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีเกล็ด ๑ เกล็ด ปลายเว้าตื้นหรือเว้าเป็นพู กว้าง ๑.๕-๓.๓ มม. ยาว ๑-๒ มม. มีขนสีเหลือง จานฐานดอกรูปวงแหวน ขอบสูงประมาณ ๑ มม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ มม. เกสรเพศผู้ ๗-๘ เกสร สีขาวถึงสีแดง ก้านชูอับเรณูยาว ๓-๕ มม. เกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ สีแดงเข้ม ทรงรูปไข่ ไม่มีก้าน


ผิวมีปุ่ม มี ๓-๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก สีแดงเข้ม ยอดเกสรเพศเมียมี ๒ แฉก

 ผลคล้ายผลแห้งแตก แตกกลางพูหรือแตกอย่างไม่เป็นระเบียบ รูปทรงรี กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๒.๕-๓.๗ ซม. สีน้ำตาลปนเทา สีเทาเงินถึงสีแดง ผิวเป็นหนามหยาบหนาแน่น เมล็ด ๑ เมล็ด รูปกลมแป้น ไม่มีเยื่อหุ้ม

 ขันมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้พบตามป่าดิบชื้นใกล้แหล่งน้ำ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปีในต่างประเทศพบทางตอนเหนือของคาบสมุทรมลายู

 ประโยชน์ น้ำมันจากเมล็ดใช้เป็นน้ำมันตะเกียงและทำน้ำมันบำรุงผิว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขัน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Paranephelium macrophyllum King
ชื่อสกุล
Paranephelium
คำระบุชนิด
macrophyllum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- King, George
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1840-1909)
ชื่ออื่น ๆ
กะท้อนลิง, คัน (ใต้); กะฮาร์ (มลายู-ยะลา); กุปิงยะชิ (มลายู-ปัตตานี); ตะคร้าหนาม (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา