ติดสี่เหม่เฮ

Vandenboschia striata (D. Don) Ebihara

เฟิร์นอิงอาศัย ลำต้นทอดเลื้อยยาว มีขนสีน้ำตาลเข้มหนาแน่น รากเห็นชัด ก้านใบแผ่เป็นครีบแคบ ๆ ตลอดความยาวทั้ง ๒ ข้าง ใบประกอบแบบขนนก ๓-๕ ชั้น รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปใบหอก แผ่นใบบางคล้ายเยื่อ แกนกลางใบมีครีบแคบ ๆ ตลอดความยาวทั้ง ๒ ข้าง ใบย่อยมีก้านใบย่อยสั้นหรือไร้ก้าน ขอบหยักตื้นเป็นพูรูปแถบ ผิวใบเกลี้ยง กลุ่มอับสปอร์เกิดใกล้ขอบใบบนใบย่อยชั้นที่ ๓ เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์เป็นหลอด ปลายสุดเป็นแผ่นบาง แผ่กว้างออกเล็กน้อย ปลายเปิดออกไปทางขอบใบ ฐานกำเนิดกลุ่มอับสปอร์มีลักษณะเป็นเส้น สีน้ำตาล มีอับสปอร์ติดโดยรอบ เส้นนี้อาจยาวพ้นส่วนปลายเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์

ติดสี่เหม่เฮเป็นเฟิร์นอิงอาศัย ลำต้นทอดเลื้อยยาว มีเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง ๑.๗ มม. แยกสาขาแบบไม่สมมาตร มีขนสีน้ำตาลเข้มหนาแน่น มีรากเจริญออกจากลำต้นจำนวนมาก รากเหล่านี้เหนียว ไม่หลุดง่าย

 ใบประกอบแบบขนนก ๓-๕ ชั้น กว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๖-๑๒ ซม. รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายเรียวแหลม โคนมน พบบ้างที่หยักเว้ารูปหัวใจ แผ่นใบบางคล้ายเยื่อ เส้นใบแตกแขนงแบบแอนาโดรมัส (anadromous) แกนกลางใบมีครีบแคบ ๆ ตลอดความยาวทั้ง ๒ ข้าง กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ครีบแผ่ออก ขอบเรียบ ก้านใบยาว ๒-๕ ซม. พบบ้างที่ยาวได้ถึง ๑๐ ซม. ออกบนลำต้นที่ทอดเลื้อย ชิดหรือห่างกันไม่เกิน ๒ ซม. สีน้ำตาลอ่อน เกลี้ยง เมื่ออ่อนอาจมีขนปกคลุมบาง ๆ ก้านใบแผ่เป็นครีบแคบ ๆ ตลอดความยาวทั้ง ๒ ข้าง ใบย่อยชั้นที่ ๒ มีข้างละ ๑๐-๑๒ ใบ เรียงสลับ ก้านใบย่อยสั้น มีครีบทั้ง ๒ ข้าง ครีบแผ่ออก ใบย่อยคู่ล่าง ๆ รูปคล้ายสามเหลี่ยม ส่วนใบย่อยคู่บน ๆ รูปไข่ ปลายแหลม โคนมนกว้างหรือเกือบตัด แผ่นใบย่อยขนาดใหญ่สุดกว้าง ๑-๒ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. ใบย่อยชั้นที่ ๓ มีข้างละ ๓-๕ ใบ เรียงสลับ รูปไข่ กว้าง ๒-๕ มม. ยาว ๓-๗ มม. สีเขียวเข้ม ปลายแหลม ขอบหยักตื้น แต่ละด้านมีพูรูปแถบ ๑-๒ พู กว้าง ๐.๓-๐.๗ มม. ยาว ๒-๓ มม. ปลายมนกลม ขอบเรียบ แต่ละพูมีเส้นใบย่อย ๑-๒ เส้น เส้นใบเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน นูนทางด้านล่าง ผิวใบเกลี้ยง ก้านใบย่อยสั้นหรือไร้ก้าน

 กลุ่มอับสปอร์เกิดใกล้ขอบใบบริเวณส่วนปลายของใบย่อยชั้นที่ ๓ กว้างประมาณ ๐.๗ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ มม. เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์เป็นหลอด โคนและขอบ ๒ ข้างเชื่อมติดกับแผ่นใบ ปลายสุดเป็นแผ่นบาง แผ่กว้างออกเล็กน้อย ขอบเรียบ ปลายเปิดออกไปทางขอบใบ อับสปอร์ติดอยู่บนฐานกำเนิดกลุ่มอับสปอร์ที่มีลักษณะเป็นเส้นสีน้ำตาลโดยรอบ เส้นนี้อาจยาวพ้นเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์ออกมา อับสปอร์สร้างสปอร์แบบเดียว

 ติดสี่เหม่เฮมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบตามพื้นที่ที่มีชั้นของอินทรียวัตถุชื้น ๆ


ปกคลุม หรือพบตามเปลือกต้นไม้ใหญ่หรือเปลือกเฟิร์นต้นที่มีมอสส์ปกคลุม บริเวณริมลำธารในป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางตั้งแต่ปานกลางจนถึงที่สูงมาก ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา จีนตอนใต้ (กวางสี กุ้ยโจว เสฉวน ยูนนาน) ญี่ปุ่น (หมู่เกาะริวกิว) ไต้หวัน และภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ติดสี่เหม่เฮ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Vandenboschia striata (D. Don) Ebihara
ชื่อสกุล
Vandenboschia
คำระบุชนิด
striata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Don, David
- Ebihara, Atsushi
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Don, David (1799-1841)
- Ebihara, Atsushi (fl. 2003)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.สหณัฐ เพชรศรี และ ศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด