ตำลึงตัวผู้ ๒

Solena heterophylla Lour.

ชื่ออื่น ๆ
บ้งกาเรน (กาญจนบุรี)
ไม้เลื้อยล้มลุกหลายปี มีหัวใต้ดิน มือจับไม่แยกแขนง ลำต้นเกลี้ยงเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่ยังอ่อนมีขนสั้นนุ่มปกคลุมใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปหัวลูกศร ดอกแยกเพศต่างต้นหรือร่วมต้น ออกตามซอกใบ สีขาวหรือสีขาวออกเหลือง ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจะแน่นคล้ายช่อซี่ร่ม ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยว ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีแคบ ผิวมีขนกำมะหยี่หรือขนสาก ผลอ่อนสีเขียว มีแถบสีขาวตามยาว ผลสุกสีแดงหรือสีเหลือง เมล็ดแบนข้างเล็กน้อย เกลี้ยง ขอบไม่ชัด สันเมล็ดเรียบ มี ๕-๒๐ เมล็ด

ตำลึงตัวผู้ชนิดนี้เป็นไม้เลื้อยล้มลุกหลายปียาว ๒-๖ ม. มีหัวใต้ดิน มือจับไม่แยกแขนง ลำต้นเกลี้ยงเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่ยังอ่อนมีขนสั้นนุ่มปกคลุม

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปหัวลูกศร กว้างประมาณ ๑๕ ซม. ยาว ๓-๒๒ ซม. แผ่นใบไม่แยก หรือแยกเป็นแฉกตื้นหรือแฉกลึก ๓ หรือ ๕ แฉก ปลายแหลม โคนใบเป็นรูปเงี่ยงลูกศรหรือรูปติ่งหู อาจซ้อนทับกัน ขอบหยักซี่ฟันและมีติ่งหนามยาว ๑-๒ มม. แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นโคนใบมี ๓-๕ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน โคนเส้นกลางใบมีต่อมเล็ก ๆ ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๕ ซม.

 ดอกแยกเพศต่างต้นหรือร่วมต้น ออกตามซอกใบ สีขาวหรือสีขาวออกเหลือง ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจะแน่นคล้ายช่อซี่ร่ม มี ๑-๒ ช่อ ไร้ก้าน หรือก้านช่ออาจยาวได้ถึง ๔ ซม. มีขนห่าง ๆ ดอกมีจำนวนมากก้านช่อและก้านดอกติดทน ใบประดับรูปคล้ายใบ ยาว ๐.๑-๑ ซม. ร่วงง่าย ใบประดับย่อยรูปรีแคบหรือรูปแถบยาว ๒-๕ มม. อาจมีต่อม ดอกเพศผู้มีก้านดอกยาว ๐.๓-๑ ซม. ฐานดอกเป็นหลอดรูปถ้วย กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๓-๕ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาว ๐.๒-๐.๕ มม. กลีบดอก ๕ กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาว ๑-๒ มม. มีขนปุ่มเล็ก เกสรเพศผู้ ๓ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๒-๓ มม. เกลี้ยง ติดใกล้โคนหลอดฐานดอก อับเรณูค่อนข้างกลม ยาว ๑-๒ มม. พูอับเรณูตั้งเฉียงหรืออยู่ในแนวนอน จานฐานดอกเป็นแฉก ยาว ๑-๒ มม. มีขนปุ่มเล็ก ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยว ก้านดอกยาว ๐.๓-๑ ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกคล้ายของดอกเพศผู้ แต่อาจมีขนาดใหญ่กว่า ยาวได้ถึง ๒.๕ มม. ติดทนบนผลอ่อน มีเกสรเพศผู้เป็นหมัน ๓-๔ เกสร ยาว ๐.๕-๑ มม. เกลี้ยง ติดใกล้โคนหลอดฐานดอก จานฐานดอกแยกเป็นแฉกลึก ๓-๔ แฉก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนสั้นหนาแน่น อาจมีลายเป็นจุดหรือเป็นเส้นมี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๒ มม. ยอดเกสรเพศเมียมี ๓ แฉก ค่อนข้างกลม แฉกมีปุ่มเล็ก

 ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีแคบ กว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๒-๕ ซม. มีขนกำมะหยี่หรือขนสาก ผลอ่อนสีเขียว มีแถบสีขาวตามยาว ผลสุกสีแดงหรือสีเหลือง เนื้อผลสีค่อนข้างเหลือง ก้านผลยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. เมล็ดแบนข้างเล็กน้อย ยาว ๕-๗ มม. หนาประมาณ ๐.๕ มม. เกลี้ยง ขอบไม่ชัด สันเมล็ดเรียบมี ๕-๒๐ เมล็ด

 ตำลึงตัวผู้ชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ชอบอากาศแห้งแล้ง พบในพื้นที่เปิด ป่าละเมาะ หรือตามชายน้ำ ขึ้นบนดินที่มีส่วนผสมของหินแกรนิต หินปูน หรือหินทราย ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๒,๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่อัฟกานิสถาน อินเดีย เมียนมา จีน ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู และเกาะชวา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตำลึงตัวผู้ ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Solena heterophylla Lour.
ชื่อสกุล
Solena
คำระบุชนิด
heterophylla
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1717-1791)
ชื่ออื่น ๆ
บ้งกาเรน (กาญจนบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.กาญจนา พฤษพันธ์