จิกนาเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๕-๑๐ ม. เปลือกสีน้ำตาล เรียบหรือแตกเป็นร่องเล็ก ๆ ตามยาว ตามกิ่งมีช่องอากาศและรอยแผลใบทั่วไป
ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่เป็นกระจุกตามปลายกิ่งรูปไข่กลับหรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๕-๙.๕ ซม. ยาว ๑๒-๓๐ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือมน โคนสอบ ขอบหยักซี่ฟันถี่หรือเรียบ แผ่นใบหนา ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน เส้นกลางใบเป็นสันคมเมื่อใบแห้ง ด้านล่างสีเขียวอ่อนและมักมีขนนุ่มตามเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๘ เส้น แต่ละเส้นโค้ง ปลายเส้นจดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ย่นและสีออกน้ำตาลแดงเมื่อแห้ง
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่งและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๓๐-๖๐ ซม. ห้อยลง ก้านช่อดอกสีเขียวอ่อนปนสีชมพู ใบประดับรูปใบหอก ร่วงง่าย ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยง โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อยเป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็น ๔ แฉก อาจพบ ๓ หรือ ๕ แฉกบ้าง กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๘ มม. กลีบดอก ๔ กลีบ รูปขอบขนาน สีชมพู กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๒ ซม. เกสรเพศผู้สีแดงมีจำนวนมาก เป็นพู่ยาว โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเล็กน้อย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเป็นเส้น ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปกระสวย กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๓-๔ ซม. โคนและปลายตัด มีสันตามยาว ๔ สัน มีกลีบเลี้ยงและก้านยอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล เมล็ดเรียวยาว มี ๑ เมล็ด
จิกนามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณชื้นและป่าดิบใกล้แหล่งน้ำ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่อินเดียเมียนมา มาเลเซีย และภาคตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย
ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องเรือน เปลือกใช้เบื่อปลา.