ติ่งหายเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๒ ม. กิ่งอ่อนเป็นรูปทรงกระบอก เกลี้ยง
ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียน ก้านใบยาว ๑.๓-๖ ซม. มีใบย่อย ๓ ใบ รูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง๒-๓ ซม. ยาว ๓-๔ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนรูปลิ่มหรือมน ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น ก้านใบย่อยยาว ๒-๓ มม. ไร้หูใบ
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตรงข้ามใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๑๕-๔๐ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๓-๑๑ ซม. เกลี้ยง ก้านดอกยาว ๑.๒-๑.๘ มม. เกลี้ยง ใบประดับรูปแถบแคบ ยาว ๒-๔ มม. ติดทน ใบประดับย่อยรูปแถบแคบ ยาว ๐.๕-๑ มม. ร่วงง่าย ดอกรูปดอกถั่ว สีเหลือง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังหรือรูปถ้วย ยาวประมาณ ๓ มม. เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยม ยาว ๓-๕ มม. เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอก ๕ กลีบ กลีบกลางรูปไข่กว้าง กว้าง ๑.๘-๒ ซม. ยาว ๒-๒.๕ ซม. ปลายแหลม โคนรูปหัวใจ ขอบเรียบ ก้านกลีบยาว ๕-๖ มม. กลีบคู่ข้างรูปไข่กลับ กว้าง ๗-๘ มม. ยาว ๑.๕-๑.๗ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนเฉียง ขอบเรียบ ก้านกลีบยาว ๕-๖ มม. กลีบคู่ล่างรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๑.๗ ซม. ยาว ๒.๓-๒.๕ ซม. ปลายเรียวแหลม จะงอยไม่บิด โคนเบี้ยว ขอบเรียบ ก้านกลีบยาว ๕-๖ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ก้านชูอับเรณูและอับเรณูมีขนาดไม่เท่ากัน อับเรณูขนาดใหญ่ติดที่ก้านชูอับเรณูขนาดสั้น ๕ อัน สลับกับอับเรณูขนาดเล็กที่ติดกับก้านชูอับเรณูขนาดยาว ๕ อัน ก้านชูอับเรณูยาว ๑.๗-๒.๒ ซม. อับเรณูสีเหลือง มี ๒ ขนาด ขนาดใหญ่รูปแถบ ยาว ๒-๒.๓ มม. ขนาดเล็กรูปขอบขนาน ยาว ๑-๑.๒ มม. ก้านรังไข่ยาว ๐.๖-๐.๘ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน ยาว ๕-๖ มม. เกลี้ยง มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๒.๓-๒.๕ ซม. บริเวณปลายด้านในมีขนสั้นนุ่มเรียงแถวเดียว ด้านนอกเกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก
ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปทรงกระบอก กว้าง ๐.๗-๑ ซม. ยาว ๓-๕ ซม. เป็นฝักพอง เมื่อแก่สีน้ำตาล เกลี้ยง ก้านผลยาว ๑.๔-๒ ซม. เมล็ดรูปไต กว้าง ๓-๓.๕ มม. ยาว ๔-๔.๕ มม. สีน้ำตาลอมดำ
ติ่งหายมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามพื้นที่เปิดโล่งข้างทาง ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๒๕-๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนสิงหาคมถึงเดือนมีนาคม ในต่างประเทศพบที่เคนยา โซมาเลีย อินเดีย สิงคโปร์ และออสเตรเลีย
ประโยชน์ ใช้เป็นสมุนไพร.