ตำลึงตัวผู้ชนิดนี้เป็นไม้เลื้อยล้มลุก ยาว ๐.๕-๑.๕ ม. ลำต้นเรียวเล็ก มือจับไม่แยกแขนง ลำต้นมีขนสั้นหรือเกือบเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปสามเหลี่ยมหรือรูปเงี่ยงใบหอก กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๒.๕-๑๐ ซม. ปลายแหลมเรียวโคนรูปหัวใจตื้นหรือตัด ขอบหยักซี่ฟัน เห็นไม่ชัด ปลายแยกเป็น ๓-๕ แฉก เกือบเกลี้ยงหรือมีขนละเอียด เส้นโคนใบ ๓-๕ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๑-๓ ซม.
ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกตามซอกใบ สีขาวเส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๗ มม. ดอกเพศผู้มักเป็นดอกเดี่ยวและมักออกร่วมกับดอกเพศเมียที่เจริญอยู่ก่อน ไม่มีขนปกคลุม แต่อาจพบต่อมกระจายห่าง ๆ ก้านดอกยาว ๑-๑.๕ ซม. ฐานดอกรูปถ้วย กว้างและยาว ๑.๕-๒ มม. ด้านนอกเกลี้ยง คอหลอดฐานดอกด้านในมีขนเป็นพู่กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ สีเขียว รูปรีแคบหรือรูปแถบ โค้งออกยาวประมาณ ๑ มม. เกลี้ยง กลีบดอก ๕ กลีบ รูปรีแคบ
ผลเปลือกเหนียว คล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือรูปทรงรีสั้น กว้าง ๐.๘-๑ ซม. ยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. เกลี้ยง สุกสีขาว ผนังผลบาง เหนียวหรือเป็นเยื่อบาง ๆ เห็นเมล็ดเมื่อแห้ง ก้านผลยาว ๑.๕-๓ ซม. เมล็ดแบน คล้ายรูปไข่กลับ กว้าง ๒.๕-๓ ซม. ยาว ๒-๔ ซม. ขอบเรียบ สันมน ผิวเรียบ มี ๑๕-๒๕ เมล็ด
ตำลึงตัวผู้ชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคกลาง และภาคใต้ พบตามที่รกร้าง ชายป่า ที่ร่มริมถนน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๕๐๐ ม. อาจพบบ้างที่ความสูงระดับทะเลปานกลางถึง ๑,๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดียตอนใต้ จีนตอนใต้ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.