ติ่งฟ้าเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๖ ม. เปลือกต้นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนมีขนหนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒.๕-๕.๕ ซม. ยาว ๕.๕-๑๓.๕ ซม. ปลายแหลมหรือแหลมมีติ่งหนาม โคนมนหรือเว้าตื้น ขอบเรียบและมักม้วนโค้งลง แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวเข้ม เกลี้ยงหรือมีขนประปรายตามเส้นใบ ด้านล่างสีเขียวหม่นอมฟ้า มีนวล มีขนประปรายหรือมีขนหนาแน่น เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน นูนเด่นชัดทางด้านล่าง มีขนหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๓ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เห็นชัดทางด้านล่าง เส้นใบย่อยแบบร่างแหเห็นชัด ก้านใบยาว ๒-๕ มม. มีขนหนาแน่น
ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ ก้านดอกยาว ๓-๗ มม. พบบ้างที่ยาวได้ถึง ๒ ซม. มีขน ใบประดับรูปสามเหลี่ยม มีขนทั้ง ๒ ด้าน กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ สีเขียวอมเหลือง รูปใบหอกแกมรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๒-๕ มม. ยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ปลายแหลม มีขนทั้ง ๒ ด้าน เมื่อดอกเจริญเต็มที่กลีบเลี้ยงมักกางผายเกือบตั้งฉากกับก้านดอก กลีบดอก ๓ กลีบ สีชมพูแกมสีเหลือง ห้อยลง ขอบเรียงจดกันคล้ายรูปสามเหลี่ยม แต่ละกลีบรูปใบหอก กว้าง ๐.๕-๑.๒ ซม. ยาว ๑-๒.๕ ซม. ปลายแหลม ส่วนโคนงอโค้ง แผ่นกลีบค่อนข้างหนา ด้านในเกลี้ยง ด้านนอกมีขน กลางกลีบมักเป็นร่องตื้น เกสรเพศผู้จำนวนมาก รูปขอบขนาน ยาว ๑.๕-๒.๕ มม. แกนอับเรณูยื่นเป็นติ่ง ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ปลายมน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีได้ถึง ๒๕ รังไข่ แยกเป็นอิสระ รูปทรงกระบอก กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาว ๑-๒ มม. มีขนหนาแน่น มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑-๓ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมากหรือไร้ก้าน ยอดเกสรเพศเมียรูปรีหรือรูปค่อนข้างกลม มีขนประปราย
ผลแบบผลกลุ่ม ก้านผลยาว ๐.๗-๒.๕ ซม. พบบ้างที่ยาวได้ถึง ๔ ซม. มีขน ผลย่อยแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีหรือรูปทรงกระบอก กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. เว้าคอดระหว่างเมล็ด ปลายแหลม ผลสีเขียว เมื่อแก่สีเขียวหม่น มีขน ก้านผลย่อยยาว ๔-๘.๕ มม. มีขน เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๕.๕-๖.๕ มม. เปลือกสีน้ำตาลอมเหลือง มี ๑-๓ เมล็ด
ติ่งฟ้ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก พบตามป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๒๕๐-๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่จีนและภูมิภาคอินโดจีน.