ตำแยราหูเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เลื้อย มีขนสั้นนุ่ม หรือมีขนแข็ง เมื่อสัมผัสจะคัน
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานหรือรูปไข่กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๓.๕-๖.๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนตัด ขอบค่อนข้างเรียบถึงหยักเป็นแอ่งซี่ฟันตื้น หรือหยักเป็นแฉกสั้น ๆ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนมีขนสีขาวประปรายหรือเกลี้ยง ด้านล่างมีขนแข็งสีขาวทั่วไปตามเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๒-๓ เส้น ก้านใบยาว ๒.๕-๔ ซม. มีขนแข็งสีขาวทั่วไป
ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่งหรือตรงข้ามใบ ยาว ๑.๒-๒.๕ ซม. ก้านช่อดอกมีขนแข็งสีขาวทั่วไป ดอกสีออกเขียวไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ดอกเพศผู้ ใบประดับรูปแถบ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก รูปไข่ ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายแหลม มีขนสั้นนุ่มเป็นกำมะหยี่ เกสรเพศผู้ ๓ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้นและหนาแยกกัน อับเรณูมี ๒ พู มีแกนอับเรณูหนา เชื่อมและยื่นพ้นพูอับเรณู ไม่มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน ดอกเพศเมียมี ๑-๒ ดอก อยู่ที่โคนช่อดอก ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกัน รูปลิ่มแคบ ยาว ๐.๗-๑ ซม. มีขนสีขาว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด มีขนสั้นนุ่ม ก้านยอดเกสรเพศเมียกว้างสั้นยอดเกสรเพศเมียมีขนยาวนุ่มเป็นชายครุย ติดทน
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. จักเป็นพูลึก ๓ พู มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลอมแดงอ่อน แกนกลางปลายกว้างและติดทนมีกลีบเลี้ยงขยายใหญ่และติดทน เมล็ดรูปทรงกลม มีเยื่อหุ้มเมล็ดบาง
ตำแยราหูมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามหินปูน ที่ลาดชัน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกันยายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมาเลเซียตอนเหนือ.