ชาฤๅษีชนิดนี่เป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นสั้นมาก ขึ้นเป็นต้นเดี่ยวอยู่ใกล้ ๆ กัน หรือเป็นกลุ่มแน่น รากเป็นกระจุกฝอย
ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกแบบกุหลาบซ้อน แผ่นใบรูปรีหรือรูปไข่กว้าง กว้าง ๒.๕-๙ ซม. ยาว ๔-๒๒ ซม. ปลายมน โคนรูปลิ่มหรือรูปหัวใจขอบหยักมนถี่หรือห่าง ด้านบนสีเขียว เกลี้ยงหรือมีขนห่าง ด้านล่างมีขนและขุยสีน้ำตาลแดง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๕ เส้น ผิวย่นแบบร่างแหตามแนวเส้นใบ เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๑-๑๒ ซม. มีขนสีน้ำตาลแดง ใบที่อยู่ด้านล่างมีขนาดใหญ่และก้านใบยาวกว่าใบด้านบน
ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน มี ๑-๕ ช่อ ออกตามซอกใบ กว้าง ๒-๖ ซม. ยาว ๔-๒๕ ซม. ก้านช่อยาว ๓.๕-๒๒ ซม. มีดอกจำนวนมาก ก้านดอกยาว ๒-๗ มม. กลีบเลี้ยงยาว ๑-๒.๕ มม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่แคบ กว้างประมาณ ๐.๗ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ปลายแหลม กลีบดอกสีขาว คล้ายรูปแตรปากกว้าง กว้างประมาณ ๘ มม. ยาวประมาณ ๔.๕ มม. โคนเชื่อมติดกันประมาณ ๑ มม. ปลายมี ๕ แฉก แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๒ แฉก ซีกล่าง ๓ แฉก รูปเกือบกลม
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแคบกว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๐.๖-๑.๒ ซม. บิดเป็นเกลียวห่าง เกลี้ยง มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่หุ้มอยู่ที่โคน เมล็ดสีน้ำตาล ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก
ชาฤๅษีชนิดนี่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคกลาง พบตามป่าผลัดใบและป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับทะเล ๑๐๐-๗๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูฏาน บังกลาเทศ เมียนมา จีน และภูมิภาคอินโดจีน.