ขี้เหล็กชวา

Senna fruticosa (Mill.) Irwin & Barneby

ชื่ออื่น ๆ
แก่นร้าง (ตะวันออกเฉียงใต้), ขี้เหล็กยะวา (กลาง)
ไม้พุ่ม ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียน ระหว่างก้านใบย่อยคู่แรกมีต่อมเป็นติ่งรูปไข่ ๑ อัน ใบย่อยรูปไข่เบี้ยว ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้น ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีเหลือง ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปทรงกระบอก มีเมล็ดเล็กจำนวนมาก

ขี้เหล็กชวาเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง ๑-๔ ม. กิ่งอ่อน ใบอ่อน และช่อดอกมีขนสีเทาสั้น ๆ ประปราย

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียน ก้านใบประกอบยาว ๓-๘ ซม. หูใบรูปแถบปลายแหลม ยาว ๒-๔ มม. มีใบย่อย ๒ คู่ คู่บนใหญ่กว่าคู่ล่าง ใบย่อยรูปไข่ เบี้ยว กว้าง ๒-๗ ซม. ยาว ๔-๑๕ ซม. ปลายแหลม โคนมนกว้างถึงสอบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้น ก้านใบย่อยสั้น

 ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้น ๆ ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีเหลืองอ่อน เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๔-๖ ซม. ก้านดอกยาว ๓-๕ มม. ใบประดับรูปแถบ ยาว ๒-๓ มม. ร่วงง่าย กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปขอบขนาน ขนาดใกล้เคียงกัน กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนสั้น กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่ ขนาดไม่เท่ากัน กลีบดอกด้านบนชั้นใน ๑ กลีบ ขนาดใหญ่กว่ากลีบอื่น รูปไข่กลับ กว้าง ปลายตัด หรือหยักเว้าเล็กน้อย กว้าง ๒.๘-๓ ซม. ยาว ๓.๓-๓.๕ ซม. กลีบดอกชั้นนอกด้านบน ๒ กลีบ ขนาดใกล้เคียงกัน รูปไข่กลับ กว้าง ๒-๒.๓ ซม. ยาวประมาณ ๓ ซม. กลีบดอกด้านล่าง ๒ กลีบ เล็กกว่ากลีบอื่น รูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๒ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน สมบูรณ์เพศ ๗ อัน ก้านชูอับเรณูยาวเรียว ๓ อัน ขนาด ๓-๔ มม. อ้วนสั้น ๔ อัน อับเรณูโค้งและหนา ขนาดไม่เท่ากัน มีรูเปิดที่ปลาย เกสรเพศผู้เป็นหมัน ๓ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนหนานุ่ม มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปทรงกระบอก ยาว ๑๕-๒๕ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. รอยตะเข็บของฝักเป็นสันนูน เมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก ฝังอยู่ในเนื้อเหนียวนุ่มภายในฝัก

 ขี้เหล็กชวามีถิ่นกำเนิดแถบอเมริกากลางและเวสต์อินดิส นำมาปลูกในประเทศไทยเป็นไม้ประดับ.



ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขี้เหล็กชวา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Senna fruticosa (Mill.) Irwin & Barneby
ชื่อสกุล
Senna
คำระบุชนิด
fruticosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Miller, Philip
- Irwin, James Bruce
- Barneby, Rupert Charles
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Miller, Philip (1691-1771)
- Irwin, James Bruce (1921- )
- Barneby, Rupert Charles (1911- )
ชื่ออื่น ๆ
แก่นร้าง (ตะวันออกเฉียงใต้), ขี้เหล็กยะวา (กลาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม