เครือแมด

Dalbergia volubilis Roxb.

ชื่ออื่น ๆ
กรุงขน, กำแมด, เครืออำไอ (ตะวันออกเฉียงเหนือ); พี้พงเครือ (เหนือ); โว้วี (ตะวันตกเฉียงใต้)
ไม้เถาเนื้อแข็ง ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่เรียงเวียน มีใบย่อย ๑๑-๑๓ ใบ เรียงสลับ รูปไข่ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบและปลายกิ่งดอกรูปดอกถั่ว สีม่วงอ่อน ผลแบบผลแห้งไม่แตกเป็นฝักแบน รูปขอบขนานแกมรูปแถบ เมล็ดรูปไต มีน้ำตาลอมแดง มี ๑-๒ เมล็ด

เครือแมดเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง เลื้อยพันไม้อื่นขึ้นสูง ๑๕-๒๐ ม.

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ก้านใบยาว ๑-๓ ซม. แกนกลางยาว ๗-๑๐ ซม. มีใบย่อย ๑๑-๑๓ ใบ เรียงสลับ รูปไข่ กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. ปลายหยักเว้า โคนมนถึงสอบ ขอบเรียบก้านใบย่อยยาว ๒-๓ มม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาว ๒๐-๓๐ ซม. ก้านดอกยาว ๓-๔ มม. ใบประดับรูปไข่ ยาว ๒-๓ มม. ดอกรูปดอกถั่ว ยาวประมาณ ๑ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก มี ๑ แฉกยาวเป็น ๒ เท่าของแฉกอื่นๆ กลีบดอก ๕ กลีบ สีม่วงอ่อน กลีบกลางรูปค่อนข้างกลม ปลายหยักเว้ายาวประมาณ ๔.๕ มม. กว้างประมาณ ๖ มม. โคนเป็นก้าน มีเนื้อนูน กลีบคู่ข้างรูปขอบขนาน โค้งเล็กน้อยยาวประมาณ ๖ มม. ปลายมน โคนสอบเป็นก้านสั้นกลีบคู่ล่างรูปคล้ายหมวก กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๔ มม.ใกล้ใคนมีติ่ง และโคนมีก้านสั้น ๆ เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร แยกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มละ ๕ เกสร อับเรณูเล็กมาก ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นหลอดหุ้มเกสรเพศเมีย ก้านรังไข่สั้น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรีแกมรูปขอบขนานโค้งเล็กน้อย ยาว ๓-๔ มม. มีขนนุ่ม มี ๑ ช่อง ออวุล ๓-๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว สั้นกว่ารังไข่เล็กน้อยยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก

 ผลแบบผลแห้งไม่แตก เป็นฝักแบน รูปขอบขนานแกมรูปแถบ กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๕-๘ ซม. เมล็ดรูปไต กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๘ มม. สีน้ำตาลอมแดง มี ๑-๒ เมล็ด

 เครือแมดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๑,๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เครือแมด
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dalbergia volubilis Roxb.
ชื่อสกุล
Dalbergia
คำระบุชนิด
volubilis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1751-1815)
ชื่ออื่น ๆ
กรุงขน, กำแมด, เครืออำไอ (ตะวันออกเฉียงเหนือ); พี้พงเครือ (เหนือ); โว้วี (ตะวันตกเฉียงใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม