ชาฤๅษี ๑

Dorcoceras philippense (C. B. Clarke) Schltr.

ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นสั้น ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกแบบกุหลาบซ้อน รูปไข่กลับ รูปรี รูปช้อน หรือรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ใบที่อยู่ด้านบนมีขนาดเล็กกว่าใบที่อยู่ด้านล่าง ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกซ้อนเชิงประกอบหรือช่อกระจุกด้านเดียวเชิงประกอบ ออกตามซอกใบใกล้ปลายลำต้น ดอกสีม่วงถึงสีม่วงอ่อนผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแคบ สีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนและบิดเป็นเกลียวเมล็ดจำนวนมาก รูปคล้ายกระสวย สีน้ำตาลอ่อน

ชาฤๅษีชนิดนี่เป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นสั้น รากขนาดเล็กออกเป็นกระจุกจำนวนมาก

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกแบบกุหลาบซ้อน รูปไข่กลับ รูปรี รูปช้อน หรือรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด กว้าง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๓-๖ ซม. ใบที่อยู่ด้านบนมีขนาดเล็กกว่าใบที่อยู่ด้านล่าง ปลายสอบแหลมโคนสอบเรียวไปถึงก้านใบ ขอบหยักมน แผ่นใบค่อนข้างหนาและยับย่น ด้านบนเป็นร่อง มีขนยาวประปรายหรือหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน ขนด้านบนสีขาวขนด้านล่างสีน้ำตาลแดง เส้นแขนงใบข้างละประมาณ ๕ เส้น ก้านใบสั้นหรือยาวได้ถึง ๑ ซม.

 ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกซ้อนเชิงประกอบหรือช่อกระจุกด้านเดียวเชิงประกอบ ออกตามซอกใบใกล้ปลายลำต้น มีได้หลายช่อ ก้านช่อยาวประมาณ ๑๐ ซม. แกนช่อยาวประมาณ ๑๐ ซม. ทั้งก้านและแกนช่อมีขนต่อมหนาแน่น ปลายขนมีเมือกเหนียว ดอกสีม่วงถึงสีม่วงอ่อน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๑.๗ ซม. ก้านดอกยาวประมาณ ๒.๕ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันประมาณ ๑ มม. ปลายแยกคล้ายดาว ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปรีแคบ กว้าง ๑-๑.๗ มม. ยาว ๒-๓ มม. สีเขียว ปลายและขอบสีแดงอ่อน มีขนต่อมประปรายบริเวณโคนหลอดค่อนข้างมาก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังสั้น สีขาวอมม่วงอ่อน ปลายมี ๕ แฉก


แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๒ แฉก ซีกล่าง ๓ แฉก รูปไข่ กว้างหรือรูปเกือบกลม กว้างและยาว ๖-๘ มม. ปลายมนกลม เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ในหลอดกลีบดอก ที่สมบูรณ์มี ๒ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๒ มม. สีขาวนวลถึงสีเหลืองอ่อน เป็นข้องอเล็กน้อย อับเรณูรูปคล้ายหัวใจ กว้างและยาว ๒-๒.๕ มม.

สีเหลือง ปลายอับเรณูโค้งจดกัน เกสรเพศผู้อีก ๓ เกสรเป็นหมัน ลดรูปเหลือเป็นติ่งขนาดเล็กหรือหายไป รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ สีน้ำตาลอมเขียว รูปทรงกระบอกแคบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๔.๕ มม. มีขนต่อมหนาแน่น ปลายขนมีหยดเมือกเหนียวสีม่วงอมแดง รังไข่มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๖ มม. สีขาว ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มสีเขียวอมน้ำตาล

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแคบยาวประมาณ ๑.๕ ซม. สีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนและบิดเป็นเกลียว บางครั้งมีส่วนของก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียติดทนเมล็ดจำนวนมาก รูปคล้ายกระสวย ยาวประมาณ ๐.๔ มม. สีน้ำตาลอ่อน ปลายทั้ง ๒ ด้านสีเข้มกว่า

 ชาฤๅษีชนิดนี่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามเขาหินปูนที่มีแสงรำไร ที่สูงจากระดับทะเล ๑๐๐-๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่จีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชาฤๅษี ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dorcoceras philippense (C. B. Clarke) Schltr.
ชื่อสกุล
Dorcoceras
คำระบุชนิด
philippense
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Clarke, Charles Baron
- Schlechter, Friedrich Richard Rudolf
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Clarke, Charles Baron (1832-1906)
- Schlechter, Friedrich Richard Rudolf (1872-1925)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ