ตำแยตัวเมียชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้พาดเลื้อยสูงหรือยาว ๓-๔ ม. กิ่งเรียว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๐.๕ มม. เกลี้ยงหรือมีขนอ่อนละเอียดทั่วไป เมื่อแห้งเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม กึ่งตรงข้าม หรือเรียงสลับใกล้ปลายยอด รูปไข่กว้างหรือคล้ายรูปสามเหลี่ยมกว้าง ๙.๕-๑๔ ซม. ยาว ๑๔-๑๙ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือค่อย ๆ สอบเรียว โคนเบี้ยว มน ตัด คล้ายรูปลิ่มหรือคล้ายรูปหัวใจ ขอบหยักมนหรือทู่ กว้างประมาณ ๘ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. และมีผลึกหินปูนกระจายทั่วไป เส้นแขนงใบข้างละ ๒-๕ เส้น เส้นโคนใบโค้งขึ้นไปเกือบจดขอบ ยาวมากกว่าครึ่งหนึ่งของความยาวแผ่นใบเส้นใบย่อยแบบคล้ายขั้นบันได ก้านใบยาว ๒-๑๐ ซม. หูใบรูปใบหอก กว้าง ๑-๓ มม.
ดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ สีเขียวอ่อน ใบประดับขนาดเล็กกว่า ๑ มม. บางและแห้ง ใบประดับย่อยรูปสามเหลี่ยม ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจุกกลม สั้น ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง ๑.๕ ซม. มี ๕-๓๐ ดอก ไร้ก้านออกตามซอกใบ ดอกเพศผู้มีก้านดอกยาว ๕-๘ มม. กลีบรวม ๕-๖ กลีบ ขอบจดกันหรืออาจเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๕-๖ แฉก เกสรเพศผู้มี ๕-๖ เกสร เรียงสลับกับกลีบรวม ก้านชูอับเรณูงอ มีรังไข่ที่เป็นหมัน ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจะแยกแขนงหรือไม่แยกแขนง หรืออาจเป็นช่อคล้ายช่อเชิงลด ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ๑-๓ ช่อ ช่อยาว ๒๐-๔๐ ซม. ห้อยลง ที่โคนช่อมีใบลดรูปขนาดเล็ก เกลี้ยงหรือมีขนประปราย เมื่อแห้งเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง ดอกเพศเมียมีกลีบรวมเชื่อมติดกันเป็นหลอดหุ้มรังไข่ ปลายแยกเป็นแฉกคล้ายซี่ฟันขนาดเล็ก ๒-๔ ซี่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปแถบสั้น มีปุ่มเล็กทั่วไปเกิดตามด้านข้างด้านเดียว ยอดเกสรเพศเมียรูปแถบ
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ทรงรูปไข่กลับหรือรูปทรงรี กว้าง ๐.๔-๐.๘ มม. ยาว ๐.๕-๑ มม. ปลายด้านหนึ่งมีจะงอย มีกลีบรวมติดทนหุ้ม เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด
ตำแยตัวเมียชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบขึ้นตามป่าดิบหรือป่าผลัดใบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลปานกลางถึงประมาณ ๑,๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย จีน พม่า ไต้หวัน ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์.