ตำหยาวสยามเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๘ ม. กิ่งอ่อนมีขนสั้นหนาแน่นถึงประปราย เปลือกสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมเทา เรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี รูปรีแกมรูปไข่ รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่ กว้าง ๑.๕-๔.๕ ซม. ยาว ๕-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลม แหลม หรือมน โคนมนถึงรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบหนากึ่งคล้ายแผ่นหนังหรือบางคล้ายกระดาษ ทั้ง ๒ ด้านเกลี้ยงหรือมีขนประปรายบริเวณเส้นกลางใบและขอบใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๓ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เส้นแขนงใบและเส้นใบย่อยเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๒-๖ มม. มีขนสั้นประปราย
ดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุก ออกตามซอกใบหรือบริเวณเหนือซอกใบ ก้านดอกยาว ๐.๔-๑ ซม. มีขนสั้นหนาแน่น ใบประดับรูปไข่ ยาวได้ถึง ๑ มม. ดอกสีเหลืองหรือสีเหลืองอมเขียว กลีบเลี้ยงยาว ๑.๒-๒ มม. โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่ ด้านนอกมีขนสั้นหนาแน่น ด้านในเกลี้ยง กลีบดอก ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ วง วงละ ๓ กลีบ กลีบวงนอกรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยมหรือรูปไข่ กว้าง ๖-๗ มม. ยาว ๑.๑-๑.๕ ซม. ปลายมน โค้งออก มีขนทั้ง ๒ ด้าน กลีบวงในรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่หรือรูปรีแกมรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๔.๕-๖.๕ มม. ยาว ๑.๑-๑.๔ ซม. ปลายมนหรือค่อนข้างแหลม โค้งออกเล็กน้อย ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยงหรือมีขนประปรายบริเวณปลายกลีบ เกสรเพศผู้ ๑๕-๒๒ เกสร รูปรีถึงรูปไข่ ยาว ๐.๘-๑.๖ มม. เกสรเพศเมีย ๒-๕ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน ยาว ๒-๓.๕ มม. มีขนหนาแน่น มี ๑ ช่อง ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก คล้ายตัวยู
ผลแบบผลกลุ่ม มีผลย่อย ๑-๓ ผล ผลย่อยแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกระบอก รูปทรงรี หรือทรงรูปไข่ ยาว ๑.๕-๓ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒.๕ ซม. ผลอ่อนสีเขียว สุกสีเหลือง ผิวเป็นมัน มีขนหนาแน่น
ตำหยาวสยามเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่าดิบแล้งบริเวณเขาหินปูนหรือเขาหินทราย และป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐-๔๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงมิถุนายน.