ช้าเรือดเป็นไม้พุ่มตั้งตรงหรือไม้พุ่มกึ่งเลื้อยพัน แต่มักพบเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อยพัน ทุกส่วนมีขนสากแข็งหนาแน่น และมีหนามแข็งประปรายบริเวณลำต้น รวมทั้งก้านและแกนช่อใบ หนามมีทั้งปลายชี้ตรงและปลายโค้งลง ยาว ๑-๔ มม. ส่วนที่ยังอ่อนมีกลิ่นฉุน
ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ ยาว ๒๖.๕-๔๒.๕ ซม. เรียงเวียน ก้านใบยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. หูใบรูปลิ่มแคบ ยาว ๐.๗-๑.๕ ซม. ร่วงง่าย แกนกลางใบยาว ๒๕-๔๐ ซม. ใบประกอบชั้นที่ ๑ เรียงตรงข้ามประกอบด้วยช่อแขนงใบ ๑๐-๓๐ ช่อ ก้านใบประกอบชั้นที่ ๒ ยาว ๓-๕ มม. มีหนาม ๑ คู่ ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายโค้งลง อยู่ระหว่างโคนก้าน แกนใบประกอบชั้นที่ ๒ ยาว ๑.๔-๖.๒ ซม. ใบประกอบชั้นที่ ๒ มีใบย่อย ๑๖-๔๐ ใบ เรียงตรงข้าม รูปขอบขนาน กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๐.๖-๑ ซม. ปลายมนกลมหรือเป็นติ่งหนาม โคนเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๕ เส้น เห็นไม่ชัด เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบย่อยสั้นมากถึงไม่มี
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ปลายยอด กว้าง ๔-๗ ซม. ยาว ๑๐-๔๐ ซม. แกนช่อดอกมีขนแข็งสั้น
ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปคล้ายถุงกระเปาะ โคนเรียวแคบ ปลายกลมถึงตัด มีจะงอยแหลมที่ปลาย กว้าง ๒.๓-๒.๕ ซม. ยาวประมาณ ๕ ซม. เปลือกผลแข็งคล้ายแผ่นหนัง ด้านนอกมีขนและมีจุดประปราย ด้านในเกลี้ยง เมล็ดรูปทรงรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๗ มม. ยาว ๐.๖-๑ ซม. เกลี้ยงมี ๒ เมล็ด
ช้าเรือดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค พบตามป่าดิบ พื้นที่ที่ถูกแผ้วถางชายป่าเบญจพรรณ และพื้นที่เปิดโล่ง ที่สูงจากระดับทะเล ๑๘๐-๑,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์เป็นผลเดือนมกราคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา จีนตอนใต้ ลาว และเวียดนาม
ประโยชน์ ยอดอ่อนและดอกอ่อนรับประทานเป็นผัก แก้ลม วิงเวียน หน้ามืด.