เครือมวกไทยเป็นไม้เถา มียางสีขาว กิ่งแขนงเมื่อยังอ่อนมีขนละเอียด เมื่อแก่เกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบ ๓-๔ ใบ รูปรี กว้าง ๑.๒-๒.๖ ซม. ยาว ๒.๗-๗.๕ ซม. ปลายมนถึงเรียวแหลมสั้นโคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนังเส้นแขนงใบข้างละ ๑๕-๒๕ เส้น ออกในแนวเกือบตั้งฉากกับเส้นกลางใบ มีขนละเอียดบนเส้นกลางใบทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๓-๗ มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกที่ชอกใบหรือปลายกิ่งยาว ๑.๒-๒.๕ ซม. มีขนนุ่มหนาแน่น ก้านช่อดอกสั้น ก้านดอกยาว ๐.๕-๑.๕ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่ถึงรูปใบหอก กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๒-๓ มม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม มีขนนุ่มหนาแน่นทางด้านนอก ดอกตูมมีรอยคอดระหว่างช่วงหลอดกลีบดอกกับแฉกกลีบดอกกลีบดอกสีเหลืองนวล โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกระบอกแคบ ยาว ๔-๖.๕ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แฉกซ้อนเหลื่อมไปทางซ้ายในดอกตูม แต่ละแฉกรูปใบหอก ยาว ๒.๕-๔.๒ มม. ปลายแหลม ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนบริเวณช่วงบนของปากหลอด เกสรเพศผู้ไม่เชื่อมติดกับยอดเกสรเพศเมีย ติดอยู่ในหลอดกลีบดอก สูงจากฐาน ๓-๓.๔ มม. และสูงกว่ายอดเกสรเพศเมีย ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๐.๕ มม. อับเรณูรูปไข่ กว้างประมาณ ๐.๔ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. โคนรูปหัวใจ รังไข่ อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ รังไข่ ยาว ๐.๖-๐.๘ มม. แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง ออวุล ๒-๓ เม็ด มีขนหนาแน่นบริเวณรอบฐานก้านยอดเกสรเพศเมียเชื่อมติดกันลักษณะคล้ายเส้นด้ายความยาวรวมกับยอดเกสรเพศเมียประมาณ ๓ มม. ยอดเกสรเพศเมียรูปกระสวย
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ออกเป็นคู่หรือเดี่ยว ถ้าทุกเมล็ดเจริญ จะเป็นฝักคอด แต่โดยมากมักจะเจริญเพียงเมล็ดเดียว ทำให้ผลเป็นรูปเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๗ มม. ยาวประมาณ ๙ มม. ผิวด้านนอกเมื่อแก่มีลักษณะค่อนข้างอวบนํ้า มีขนละเอียดบริเวณโคนและปลาย เมล็ดทรงรูปไข่ ค่อนข้างกลมกว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๖ มม.
เครือมวกไทยเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออกและภาคกลางพบขึ้นตามป่าดิบหรือป่าเต็งรัง ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๗๐๐-๑,๔๐๐ ม. ออกดอกเดือนสิงหาคม.