ข้าหลวงหลังลาย

Asplenium nidus L.

ชื่ออื่น ๆ
กระแตไต่หิน (เลย), กระปรอกหัวลง (ชลบุรี), กระปรอกหางสิงห์ (ตราด), หางนกยูง
เฟิร์นอิงอาศัย เหง้าตั้งตรงและอวบ ใบเรียงเวียน รูปรีแกมรูปขอบขนาน กลุ่มอับสปอร์เรียงตามแนวเส้นแขนงใบแต่ไม่ถึงขอบใบ

ข้าหลวงหลังลายเป็นเฟิร์นอิงอาศัย เหง้าสั้น ตั้งตรง อวบหนา ตอนล่างมีรากสีน้ำตาล มีขน ออกเป็นกลุ่ม ติดอยู่ตลอดอายุของต้นและพอกหนาตามอายุเป็นกลุ่มใหญ่ เป็นที่อิงอาศัยของพืชอิงอาศัยอื่น ๆ โดยเฉพาะพวกเฟิร์นด้วยกัน ปลายยอดของเหง้ามีเกล็ดสีน้ำตาลถึงน้ำตาลดำหนาแน่น เกล็ดเป็นแผ่นบาง กว้าง ๒-๓ มม. ยาวประมาณ ๒ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่รอบแกนของเหง้า รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑๐-๓๐ ซม. ยาว ๐.๕-๑.๕ ม. ตอนกลางใบกว้างที่สุด ปลายแหลม โคนสอบ ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบหนา เรียบ เส้นกลางใบนูนเป็นสันทางด้านบน ด้านล่างแบน เส้นแขนงใบแยกสาขาเป็นคู่ ๑-๒ ครั้ง สาขาแรกเกิดใกล้เส้นกลางใบ ขนานกับเส้นใบอื่น ๆ ไปยังขอบใบ และจรดกันเป็นแนวขนานกับขอบใบ กลุ่มอับสปอร์เรียงเป็นแถบยาวตามแนวเส้นแขนงใบแต่ไม่ถึงขอบใบ เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์เป็นแผ่นบาง ๆ กว้างประมาณ ๐.๕ มม.

 ข้าหลวงหลังลายมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นบนต้นไม้ใหญ่หรือบนก้อนหินในป่าดิบ ป่าชายเลน บริเวณที่ร่มหรือค่อนข้างร่ม บริเวณที่มีความชื้นสูง สามารถขึ้นกลางแจ้งได้ ที่ความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๒,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบทั่วไปในเขตร้อนของทวีปแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ.


ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ข้าหลวงหลังลาย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Asplenium nidus L.
ชื่อสกุล
Asplenium
คำระบุชนิด
nidus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
กระแตไต่หิน (เลย), กระปรอกหัวลง (ชลบุรี), กระปรอกหางสิงห์ (ตราด), หางนกยูง
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด