แดงคลอง

Syzygium syzygioides (Miq.) Merr. et L. M. Perry

ชื่ออื่น ๆ
แดงขี้นก, แดงดง (ประจวบคีรีขันธ์); หว้าซั้น, หว้าฮากยอง (หนองคาย); หว้าส้ม (ชลบุรี); เหม็ดชุน (นครศรีธรรมราช)

ไม้ต้นไม่ผลัดใบ เรือนยอดค่อนข้างทึบ ลำต้นเปลาตรง โคนต้นมีพอน เปลือกนอกสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลแดง กิ่งอ่อนรูปทรงกระบอก เกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรูปรีหรือรูปไข่แกมรูปรี เส้นขอบใน ๑ เส้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง แกนกลางช่อและแขนงช่อดอกค่อนข้าง แบน ดอกสีขาว ไร้ก้าน ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ผลอ่อนรูปกระบอง ผลแก่รูปทรงกลม มีกลีบเลี้ยง ติดทนที่ปลายผล สุกสีดำ ผิวมันวาว มีเมล็ดน้อย


     แดงคลองเป็นไม้ต้นไม่ผลัดใบ สูงได้ถึง ๑๕ ม. เรือนยอดค่อนข้างทึบ ลำต้นเปลาตรง โคนต้นมีพอน เปลือกนอกสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลแดง เปลือกค่อนข้าง เรียบหรือแตกล่อนเป็นสะเก็ดและแตกเป็นร่องตื้น ๆ ตาม ยาว เปลือกในสีน้ำตาล กิ่งอ่อนรูปทรงกระบอก เกลี้ยง กิ่งแก่สีน้ำตาลแดง
     ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรูปรี หรือรูปไข่แกมรูปรี กว้าง ๑.๙-๔ ซม. ยาว ๓.๕-๘.๙ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อน เรียบและเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน มีจุดต่อม กระจายทั่วแผ่นใบ เส้นกลางใบเป็นร่องเล็กน้อยทางด้าน บน นูนเด่นทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๘-๓๗ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกันก่อนถึงขอบใบ เส้นขอบใน ๑ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๔.๒-๗.๗ มม. เกลี้ยง ไม่มีหูใบ ใบแก่ก่อนร่วงสีน้ำตาลอมเหลือง ใบแห้งด้านบน สีน้ำตาลคล้ำ ด้านล่างสีน้ำตาลแดง
     ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอก ใบและที่ปลายกิ่ง ช่อยาวได้ถึง ๗.๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ได้ถึง ๑ ซม. แกนกลางช่อและแขนงช่อดอกค่อนข้างแบน ใบประดับรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๐.๓ มม. ยาว ประมาณ ๐.๕ มม. ใบประดับย่อยรูปสามเหลี่ยม กว้าง ประมาณ ๐.๔ มม. ยาว ๐.๕-๐.๖ มม. ดอกสีขาว ไร้ก้าน ช่อย่อยออกเป็นกระจุก กระจุกละ ๓ ดอก ฐานดอกรูป กรวย ยาว ๓.๑-๔.๒ มม. ผิวเรียบ ก้านดอกเทียมยาว ๑.๓- ๑.๕ มม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ สีเขียวอ่อน รูปสามเหลี่ยม ยาว ๐.๕-๐.๘ มม. กลีบดอก ๔ กลีบ รูปค่อนข้างกลม ยาว ๑.๕-๒.๖ มม. เป็นเยื่อบางใส แต่ละกลีบมีจุดต่อม ๒๐-๒๕ ต่อม เกสรเพศผู้จำนวนมาก แยกเป็นอิสระ เกสรที่อยู่รอบนอกยาว ๓.๒-๕.๔ มม. ก้านชูอับเรณู รูปเส้นด้าย อับเรณูทรงรูปไข่ ยาวประมาณ ๐.๔ มม. ติดที่ด้านหลัง ปลายแกนอับเรณูยื่นเป็นต่อม รูปรีแกมรูป ขอบขนาน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมี ออวุล ๕-๑๐ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยาว ๒.๙-๖.๑ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มขนาดเล็ก
     ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ผลอ่อนรูป กระบอง ผลแก่รูปทรงกลม กว้าง ๔-๘ มม. ยาว ๔-๕ มม. มีกลีบเลี้ยงติดทนที่ปลายผล ผลแก่สีแดงเข้ม สุกสีดำ ผิวมันวาว มีเมล็ดน้อย
     แดงคลองมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย เกือบทุกภาค ยกเว้นภาคเหนือ พบตามป่าดิบแล้งหรือ ป่าดิบชื้น ที่ราบลุ่มริมลำธารและป่าชายหาด ที่สูงตั้งแต่ ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ออกดอกเดือน ธันวาคมถึงมกราคม เป็นผลเดือนมกราคมถึงมีนาคม ใน ต่างประเทศพบที่รัฐอัสสัม หมู่เกาะทะเลอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย
     ประโยชน์ เปลือกและเนื้อไม้ให้สารแทนนิน ใช้ย้อมผ้า ผลสุกรับประทานได้.

 

 

 

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แดงคลอง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Syzygium syzygioides (Miq.) Merr. et L. M. Perry
ชื่อสกุล
Syzygium
คำระบุชนิด
syzygioides
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- (Miq.)
- Merr. et L. M. Perry
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (Miq.) ช่วงเวลาคือ (1811-1871)
- Merr. ช่วงเวลาคือ (1876-1956)
- L. M. Perry ช่วงเวลาคือ (1895-1992)
ชื่ออื่น ๆ
แดงขี้นก, แดงดง (ประจวบคีรีขันธ์); หว้าซั้น, หว้าฮากยอง (หนองคาย); หว้าส้ม (ชลบุรี); เหม็ดชุน (นครศรีธรรมราช)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายสุคิด เรืองเรื่อ
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.