เครือมวกเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง เถายาวได้ถึง ๙ ม. ทุกส่วนมียางสีขาว กิ่งอ่อนมีขน กิ่งแก่เกลี้ยง มีช่องอากาศ
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปรี พบน้อยมากที่เป็นรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๔.๕ ซม. ยาว ๕.๕-๑๐.๗ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่มถึงมนกลม แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น ปลายโค้งจรดกัน เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๗ ซม. มีขนแข็งเอนประปราย
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกที่ปลายกิ่งยาว ๒-๑๓ ซม. อาจแยกแขนง ๒-๓ ครั้ง มีขน ดอกสีขาวก้านดอกยาว ๐.๒-๒.๒ ซม. ดอกตูมรูปทรงกระบอกปลายมน กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปแถบแกมรูปใบหอกกว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๐.๖-๑.๕ ซม. ปลายเรียวแหลมโคนมีต่อมเรียงใกล้ขอบกลีบ กลีบดอกส่วนโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด โคนป่องเด็กน้อย ยาว ๐.๕-๑.๓ ซม. ขอบคอหลอดดอกมีขน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก เรียงซ้อนเหลื่อมไปทางขวาในดอกตูม กางออกในแนวระนาบเมื่อดอกบาน แต่ละแฉกรูปรีกว้างหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๒.๕-๔ มม. ยาว ๐.๔-๑.๖ ซม. ปลายมนหรือมนกลมมีขนนุ่มทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้ ๕ เกสร อยู่ในหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น ติดใกล้โคนหลอด อับเรณูรูปหัวลูกศร กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๔-๖.๕ มม. ส่วนปลายของอับเรณูที่เป็นหมันเกาะแนบกับยอดเกสรเพศเมียจานฐานดอกสูง ๑-๒ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นวง ปลายหยักเป็นรูปสามเหลี่ยม ๕ แฉก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ รังไข่ แยกกัน ผิวมีขนนุ่ม แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเชื่อมกันเป็นก้านเดียว ความยาวรวมกับยอดเกสรเพศเมีย ๒.๕-๖.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว รูปทรงกระบอกปลายเรียว ออกเป็นฝักคู่ กว้าง ๔-๘.๕ มม. ยาว ๑๐-๓๘ ซม. ผิวมีขนหรือเกลี้ยง เมล็ดแบนรูปขอบขนานกว้าง ๒.๕-๕.๕ มม. ยาว ๑.๕-๒.๓ ซม. ปลายมีขนเป็นพู่ ยาว ๒.๓-๕.๕ ซม.
เครือมวกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณออกดอกเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า จีน และเวียดนาม.