ตำหยาวเล็กเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๙ ม. กิ่งอ่อนมีขนสั้นหนาแน่น เปลือกสีน้ำตาลอมดำ เรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี รูปใบหอก หรือรูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง ๒-๕.๕ ซม. ยาว ๕-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลม แหลม หรือมน โคนมนหรือเว้าเล็กน้อยคล้ายรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้านหรือมีขนประปรายจนถึงหนาแน่นบริเวณเส้นกลางใบและขอบใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๒ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เส้นแขนงใบและเส้นใบย่อยเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๒-๕ มม. มีขนสั้นหนาแน่น
ดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุก ออกตามซอกใบหรือบริเวณเหนือซอกใบ ก้านดอกยาว ๐.๔-๑ ซม. มีขนสั้นหนาแน่น ใบประดับรูปไข่ ยาวได้ถึง ๑ มม. ดอกสีเหลืองหรือสีเหลืองอมเขียว กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๑.๕ มม. โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่ ด้านนอกมีขนสั้นหนาแน่น ด้านในเกลี้ยงหรือมีขนสั้นเฉพาะบริเวณโคนกลีบ กลีบดอก ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ วง วงละ ๓ กลีบ กลีบวงนอกรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๖-๘ มม. ปลายมน โค้งออก มีขนทั้ง ๒ ด้าน กลีบวงในรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ กว้าง ๔-๕.๕ มม. ยาว ๕.๕-๗.๕ มม. ปลายมน โค้งออกเล็กน้อย ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยงหรือมีขนประปรายบริเวณปลายกลีบ เกสรเพศผู้ ๓๐-๓๕ เกสร รูปรีถึงรูปไข่ ยาว ๐.๕-๑ มม. เกสรเพศเมีย ๓-๔ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน ยาว ๒.๕-๓ มม. มีขนหนาแน่น มี ๑ ช่อง ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก คล้ายตัวยู
ผลแบบผลกลุ่ม มีผลย่อย ๑-๓ ผล ผลย่อยแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีหรือรูปทรงค่อนข้างกลม ยาว ๑.๕-๔ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒.๕ ซม. ผลอ่อนสีเขียว สุกสีเหลือง ผิวเป็นมัน มีขนหนาแน่น
ตำหยาวเล็กมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย.