ชารักษ์เป็นไม้ล้มลุกหรือกึ่งไม้พุ่ม สูง ๐.๓-๑ ม.ต้นตั้งตรงหรือโน้มเอน แตกกิ่งมาก กิ่งอ่อนมักเป็นสันสี่เหลี่ยมชัด เมื่อแก่เหลี่ยมค่อนข้างมน เกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๐.๗-๒.๘ ซม. ยาว ๒.๕-๙.๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนสีเขียวเกลี้ยง อาจมีขนตามเส้นใบ ด้านล่างสีจางกว่า เกลี้ยงเส้นแขนงใบข้างละ ๓-๕ เส้น เห็นชัดทางด้านบนก้านใบยาว ๒-๘ มม. เกลี้ยง หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมเล็ก โคนกว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๒-๓ มม. ปลายเรียวแหลม มีขน ติดทน
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกที่ยอดหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๒-๗ ซม. กว้าง ๑-๕ ซม. ก้านช่อเป็นเหลี่ยม เกลี้ยงช่อย่อยแบบช่อกระจุก ดอกเล็ก สีขาว ก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. หรือไร้ก้าน กลีบเลี้ยงยาว ๑-๒ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ยาว ๐.๒-๑ มม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปสามเหลี่ยมเรียวแหลม กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. ความยาวแฉกใกล้เคียงกับส่วนโคนที่เชื่อมติดกัน กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๒-๓ มม. ปากหลอดผายออกเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๔ แฉก พบน้อยที่มี ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๒-๒.๕ มม. บริเวณโคนแฉกกลีบ ดอกผายโค้งออก เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ก้านชูอับเรณูเรียว ยาว ๐.๑-๐.๗ มม. อับเรณูรูปขอบขนาน ยาว ๐.๘-๑.๓ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวเล็ก ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉก ยาวประมาณ ๐.๗ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็ก
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่ เมล็ดเล็ก มีเหลี่ยม
ชารักษ์เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบตามทุ่งหญ้า ที่โล่งหรือริมลำธารในป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเล ๘๐๐-๑,๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี.