จิกนมชนิดนี้เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๗-๑๐ ม. เปลือกสีน้ำตาล แตกเป็นร่องตามยาว กิ่งอวบ มีช่องอากาศและรอยแผลใบทั่วไป
ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่เป็นกระจุกตามปลายกิ่งรูปขอบขนาน รูปใบหอก หรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๘-๑๒ ซม. ยาว ๓๐-๔๕ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลมหรือมน โคนสอบ ขอบจักฟันเลื่อยตื้น ๆ หรือเรียบ แผ่นใบหนา ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน เส้นกลางใบเป็นสันคมเมื่อใบแห้ง ด้านล่างสีเขียวอ่อน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๘-๒๕ เส้น แต่ละเส้นโค้ง ปลายเส้นจดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ เป็นร่องทางด้านบน นูนทางด้านล่างเส้นใบย่อยมีทั้งแบบขั้นบันไดและแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบเกลี้ยงและยาว ๒.๕-๒๐ ซม. ซึ่งยาวกว่าชนิดอื่นในสกุลเดียวกัน โคนก้านย่นและสีออกน้ำตาลแก่เมื่อแห้ง ใบแห้งสีเหลือง
ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๔๐-๘๐ ซม. ห้อยลง แกนช่ออวบ ใบประดับรูปใบหอกร่วงง่าย ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกระจุก ๒-๓ ดอก ก้านดอกเห็นไม่ชัด กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๕ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวยสี่เหลี่ยม ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ๓-๕ แฉก กลีบดอก ๔ กลีบ รูปช้อน สีชมพู กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๒ ซม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก เป็นพู่ยาว ปลายสีขาว โคนสีแดง โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเล็กน้อย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเป็นเส้นยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปทรงรี กว้าง ๓-๓.๕ ซม. ยาว ๗-๙ ซม. ปลายแหลม โคนสอบ มีสันตามยาว ๔ สัน เห็นไม่ชัด มีกลีบเลี้ยงและก้านยอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล เมล็ดรูปทรงกลม ค่อนข้างแบนมี ๒-๔ เมล็ด
จิกนมชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามชายป่าดิบใกล้แหล่งน้ำ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่เมียนมา จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย
ประโยชน์ เปลือกและรากใช้แก้โรคกลาก ใบใช้เป็นสมุนไพร.