ตาเสือใบเล็ก

Aglaia spectabilis (Miq.) S. S. Jain et Bennet

ชื่ออื่น ๆ
ตาเสือ, บูโด (ใต้)
ไม้ต้น กิ่งอ่อนอวบ ยอดอ่อนและกิ่งอ่อนมีขนสากและมีเกล็ดสีน้ำตาลแกมสีเหลืองค่อนข้างหนาแน่น กิ่งแก่เกลี้ยง เปลือกนอกสีน้ำตาลอ่อน ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อย ๑๑-๑๕ ใบ รูปขอบขนานรูปใบหอกแกมรูปขอบขนานถึงรูปไข่กลับ หรือรูปใบหอกกลับ ดอกแยกเพศและดอกสมบูรณ์เพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ดอกสีชมพูแกมสีเหลืองหรือสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อน ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงค่อนข้างกลมหรือทรงรูปไข่กลับ ผลแก่สีน้ำตาล สีแดง หรือสีเหลือง เมล็ดมีเนื้อเยื่อสีแดง สีแดงแกมสีส้ม หรือสีขาวหุ้ม มี ๓-๔ เมล็ด

ตาเสือใบเล็กเป็นไม้ต้น สูง ๑๐-๔๐ ม. เส้นรอบวง ๐.๕-๒.๔ ม. กิ่งอ่อนอวบ ยอดอ่อนและกิ่งอ่อนมีขนสากและมีเกล็ดสีน้ำตาลแกมสีเหลืองค่อนข้างหนาแน่น กิ่งแก่เกลี้ยง เปลือกนอกสีน้ำตาลอ่อน มีช่องอากาศและแตกเป็นร่องเป็นสะเก็ดห้อยลง เปลือกในสีแดงสลับกับแนวสีขาว กระพี้สีนวล แก่นสีน้ำตาลใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ยาว ๐.๒-๑ ม. เกลี้ยงหรืออาจมีขนประปราย ใบย่อย ๑๑-๑๕ ใบ ออกตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปขอบขนาน รูปใบหอกแกมรูปขอบขนานถึงรูปไข่กลับ หรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๔-๑๓ ซม. ยาว ๑๑-๓๐ ซม. ปลายอาจเรียวแหลม แหลม หรือมน โคนมนหรืออาจเบี้ยวขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างหนาด้านบนอาจเกลี้ยงหรือมีต่อมใส ด้านล่างเกลี้ยง ยกเว้นตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบมีขนสากประปรายในระยะแรก ๆ เส้นกลางใบค่อนข้างแบนหรือเป็นร่องทางด้านบน นูนทางด้านล่าง มีขนสากและมีเกล็ดปกคลุมในระยะแรก ๆ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๗-๒๐ เส้น ปลายเส้นโค้งใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได พอสังเกตเห็นได้ทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑๕-๒๓ ซม. มีเกล็ดและมีขนคล้ายรูปดาว ก้านใบย่อยยาว ๑-๒.๕ ซม. มีขนเช่นเดียวกับก้านใบ

 ดอกแยกเพศและดอกสมบูรณ์เพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ดอกสีชมพูแกมสีเหลืองหรือสีขาว กลิ่นหอมอ่อน ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ ช่อดอกเพศผู้ยาวได้ถึง ๕๐ ซม. มีช่อแขนงแผ่กว้างได้ถึง ๓๐ ซม. ก้านช่อยาวประมาณ ๒๐ ซม. ทั้งก้านช่อและก้านช่อแขนงมีสันตามยาว ๔ สัน มีขน ก้านดอกยาวประมาณ ๓ มม. มีขนสากรูปดาว กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๓ แฉก รูปรี ยาว ๑-๒.๕ มม. ปลายมน มีขนหนาแน่นตามผิวด้านนอกกลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๓ แฉก รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายเป็นติ่งแหลม ขอบซ้อนเหลื่อมกัน เกสรเพศผู้ ๕-๑๐ เกสร โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอด สั้นกว่ากลีบดอก ช่อดอกเพศเมียคล้ายช่อดอกเพศผู้ ยาวได้ถึง ๑๘-๕๐ ซม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบรูปทรงกลม มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด มีขนหนาแน่น ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียรูปทรงรี มี ๓ พู สีดำเป็นมัน ดอกสมบูรณ์เพศคล้ายดอกเพศเมีย

 ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงค่อนข้างกลมหรือทรงรูปไข่กลับ กว้าง ๕.๕-๙ ซม. ยาว ๖-๙ ซม. เมื่อแห้งแข็ง ผลแก่สีน้ำตาล สีแดง หรือสีเหลือง มีขนสากสีน้ำตาลแกมสีแดงเรื่อหนาแน่น เปลือกหนาประมาณ ๑ ซม. ผลสดมียางสีขาวและค่อนข้างฉ่ำน้ำก้านผลยาวได้ถึง ๔.๕ ซม. มักชี้ตั้งขึ้น เมล็ดมีเนื้อเยื่อสีแดง สีแดงแกมสีส้ม หรือสีขาวหุ้ม มี ๓-๔ เมล็ด ขั้วเมล็ดสีขาว

 ตาเสือใบเล็กมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ พบตามป่าดิบใกล้แหล่งน้ำ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๐๐-๑,๖๐๐ ม. ส่วนใหญ่ออกดอกและเป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา จีน ภูมิภาคอินโดจีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ถึงออสเตรเลีย

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างทั่ว ๆ ไปและทำแผ่นหน้าไม้อัด.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาเสือใบเล็ก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Aglaia spectabilis (Miq.) S. S. Jain et Bennet
ชื่อสกุล
Aglaia
คำระบุชนิด
spectabilis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm
- Jain, S. S.
- Bennet, Sigamony Stephen Richard
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm (1811-1871)
- Jain, S. S. (1952-)
- Bennet, Sigamony Stephen Richard (1940-2009)
ชื่ออื่น ๆ
ตาเสือ, บูโด (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย