ชายเฟือย

Coix aquatica Roxb.

ชื่ออื่น ๆ
เดือยหิน (เชียงใหม่); ลำเอียก (กลาง); อ้อน้ำ (จันทบุรี)
ไม้น้ำล้มลุกหลายปีพวกหญ้า ลำต้นเกาะเลื้อยและชูยอดขึ้นเหนือน้ำ หรือลำต้นลอยน้ำและทอดชูยอดใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบ ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจะคล้ายช่อเชิงลด ออกตามซอกกาบใบ โคนช่อมีวงใบประดับเป็นกระเปาะหุ้มปิดกลุ่มดอกเพศเมีย ส่วนกลุ่มดอกเพศผู้ยื่นเหนือช่องเปิดที่ปลายกระเปาะ ช่อดอกย่อยออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๓ ช่อ บางครั้งออกเป็นคู่ เป็นช่อดอกย่อยมีก้านและช่อดอกย่อยไร้ก้าน มีดอกย่อย ๒ ดอก วงใบประดับสีขาว สีนวล หรือสีน้ำตาลอ่อน รูปไข่ปลายเป็นจะงอยแหลมและมีช่องเปิด ผิวเรียบ เป็นมันวาว แข็ง ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด รูปทรงกลมหรือค่อนข้างกลม เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

 ชายเฟือยเป็นไม้น้ำล้มลุกหลายปีพวกหญ้า มีรากออกตามข้อ ลำต้นเกาะเลื้อยและชูยอดขึ้นเหนือน้ำ หรือลำต้นลอยน้ำและทอดชูยอด เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. สูง ๐.๖-๒ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ ออกตลอดลำต้น รูปแถบกว้าง ๑-๔ ซม. ยาว ๐.๓-๑ ม. ปลายเรียวแหลม โคนเว้ารูปหัวใจหรือมนกลม ขอบมีขนครุย แผ่นใบด้านบนมีขน โคนขนเป็นปุ่ม เส้นกลางใบหนา เส้นใบเรียงขนานกันตามยาว มีหลายเส้น โคนใบเป็นกาบโอบลำต้น มีขนแบบโคนขนเป็นปุ่ม หรือค่อนข้างเกลี้ยงลิ้นใบเป็นเยื่อบาง ยาวประมาณ ๑ มม.

 ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจะคล้ายช่อเชิงลด ออกตามซอกกาบใบ ยาว ๓.๕-๑๐ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๓-๗ ซม. โคนช่อมีวงใบประดับที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นกระเปาะหุ้มปิดกลุ่มดอกเพศเมีย ส่วนกลุ่มดอกเพศผู้ยื่นเหนือช่องเปิดที่ปลายกระเปาะ ยาว ๒.๕-๘.๕ ซม. โค้งลง ช่อดอกย่อยเพศผู้ส่วนมากออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๓ ช่อ ช่อดอกย่อยช่อกลางมีก้าน ส่วนช่อดอกย่อยด้านข้างไร้ก้าน บางครั้งออกเป็นคู่ ช่อดอกย่อยมี ๒ แบบ เป็นช่อดอกย่อยมีก้านและช่อดอกย่อยไร้ก้านอย่างละ ๑ ช่อ เรียงซ้อนเหลื่อมตามแกนกลางช่อ ช่อดอกย่อยไร้ก้านเป็นช่อดอกย่อยเพศผู้ที่สมบูรณ์ ส่วนช่อดอกย่อยมีก้านเป็นช่อดอกย่อยเพศผู้ที่เป็นหมัน ช่อดอกย่อยเพศผู้รูปรี กว้าง ๓-๖ มม. ยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. โคนช่อดอกย่อยมีกาบ ๒ กาบ ลักษณะแตกต่างกัน ยาวเกือบเท่ากัน เนื้อบางคล้ายกระดาษ มีเส้นตามยาวหลายเส้น กาบช่อย่อยล่างรูปรีคล้ายเรือ ยาวเท่ากับช่อดอกย่อย แบนทางด้านหลัง ขอบเป็นสัน บนสันมีปีกบางใส ปีกกว้าง ๐.๘-๑.๕ มม. ปลายมน ขอบมีขนครุย มีเส้นแขนงบนปีกเห็นชัด กาบช่อย่อยบนรูปรีคล้ายเรือ สั้นกว่าช่อดอกย่อยเล็กน้อย ช่อดอกย่อยมีดอกย่อย ๒ ดอก ลักษณะคล้ายกัน ดอกย่อยมีกาบ ๒ กาบ กาบล่างและกาบบนรูปใบหอกแคบ ปลายแหลม เนื้อบางใส กาบล่างยาว ๐.๘-๑ ซม. กาบบนสั้นกว่ากาบล่างเล็กน้อย มีกลีบเกล็ด ๒ กลีบ รูปลิ่มมีเนื้อ เกสรเพศผู้ ๓ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูสีเหลือง รูปขอบขนาน ยาว ๔-๖ มม. ช่อดอกเพศเมียมีวงใบประดับเป็นกระเปาะหุ้ม ติดทน สีขาว สีนวลหรือสีน้ำตาลอ่อน รูปไข่ กว้าง ๔-๗ มม. ยาว ๑-๑.๔ ซม. ปลายเป็นจะงอยแหลมและมีช่องเปิด ผิวเรียบเป็นมันวาว แข็ง ภายในมีช่อดอกย่อยเพศเมียออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๓ ช่อ ช่อดอกย่อยช่อกลางไร้ก้าน ส่วนช่อดอกย่อยด้านข้างมีก้าน ช่อดอกย่อยมีก้านเป็นช่อดอกย่อยเพศเมียที่เป็นหมัน ลักษณะเรียวและแคบหรือลดรูปเหลือเฉพาะก้านช่อดอกย่อย ส่วนช่อดอกย่อยไร้ก้านเป็นช่อดอกย่อยเพศเมียที่สมบูรณ์ รูปไข่ กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. แบนทางด้านหลัง โคนช่อดอกย่อยมีกาบ ๒ กาบ ลักษณะแตกต่างกัน ยาวเกือบเท่ากัน มีเส้นตามยาวหลายเส้น กาบช่อย่อยล่างรูปใบหอก ยาวเท่ากับช่อดอกย่อย ปลายเรียวแหลมเนื้อบางคล้ายกระดาษ กาบช่อย่อยบนรูปใบหอก


สั้นกว่าช่อดอกย่อยเล็กน้อย ปลายเรียวแหลม เนื้อบางใส ตรงกลางเป็นสัน ๑ สัน ด้านข้างเป็นร่องตื้นตามเส้นตามยาว ช่อดอกย่อยมีดอกย่อย ๒ ดอก ดอกย่อยล่างเป็นหมัน ลดรูปเหลือเฉพาะกาบล่าง ๑ กาบ ไม่มีกาบบน กาบล่างรูปใบหอก ยาว ๗-๘ มม. ปลายเรียวแหลม เนื้อบางคล้ายเยื่อ มีเส้นตามยาว ๕ เส้น ดอกย่อยบนเป็นดอกเพศเมีย มีกาบ ๒ กาบ กาบล่างรูปใบหอก ยาว ๗-๘ มม. ปลายเรียวแหลม เนื้อบางคล้ายเยื่อ มีเส้นตามยาว ๕ เส้น เส้นด้านข้างเห็นไม่ชัด มีร่องตื้นตามยาว ๒ ร่อง กาบบนรูปใบหอก

ยาวใกล้เคียงกับกาบล่าง ปลายเรียวแหลม เนื้อบางใสมีเส้นตามยาว ๒ เส้น ไม่มีกลีบเกล็ด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก แต่ละแฉกมีขนยาวนุ่มเป็นพู่คล้ายขนนกสีแดงหรือสีม่วงแดง ก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียรวมกันยาว ๒-๓ ซม. ยื่นเหนือช่องเปิดที่ปลายกระเปาะ

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด รูปทรงกลมหรือค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๘ มม. เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

 ชายเฟือยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามริมแม่น้ำ ลำคลอง แหล่งน้ำต่าง ๆ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูฏาน บังกลาเทศ ศรีลังกา เมียนมา จีน เวียดนาม และออสเตรเลีย

 ประโยชน์ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำท่าจีน อำเภอบางเลนและอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ใช้ใบห่อข้าวต้มลูกโยน นิยมทำในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา

 โทษ เป็นวัชพืชในแหล่งน้ำ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชายเฟือย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Coix aquatica Roxb.
ชื่อสกุล
Coix
คำระบุชนิด
aquatica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1751-1815)
ชื่ออื่น ๆ
เดือยหิน (เชียงใหม่); ลำเอียก (กลาง); อ้อน้ำ (จันทบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย