ข้าวหลามดงเป็นไม้ต้น สูง ๔-๘ ม. ลำต้นแตกกิ่งจำนวนมาก กิ่งอ่อนเรียบ เปลือกโคนต้นเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็กตื้น ๆ สีน้ำตาลอมดำ เรือนยอดเป็นพุ่มกว้าง
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง ๓-๔ ซม. ยาว ๑๐-๑๖ ซม. ปลายแหลมจนถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบหนา ด้านบนเป็นมัน สีเขียวเข้ม ด้านล่างเป็นมัน สีเขียวอ่อน เส้นกลางใบด้านบนเป็นร่อง เส้นแขนงใบเห็นไม่ชัดทั้ง ๒ ด้าน ปลายเส้นโค้งเชื่อม เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบโป่ง ยาว ๐.๗-๑.๓ ซม. โคนก้านไม่มีขน
ดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุก สีเหลืองหรือชมพู ออกตามซอกใบที่กิ่ง หรือออกตามลำต้นบริเวณเหนือรอยแผลใบ ดอกห้อยลง รูปสามเหลี่ยม กลิ่นหอม ก้านดอกยาว ๐.๖-๑ ซม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ รูปไข่ กว้างและยาวประมาณ ๑ ซม. ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกหนา มี ๖ กลีบ เรียง ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ กลีบชั้นนอกรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๓ ซม. ยาว ๔-๕ ซม. ด้านนอกมีสันนูนกลางกลีบตามแนวยาว กลีบชั้นในประกบเป็นแท่งสามเหลี่ยม ยาว ๑-๑.๕ ซม. เกสรเพศผู้ ๒๐-๓๐ อัน รูปแท่ง อับเรณู ๔ พู แตกตามยาว เกสรเพศเมียจำนวนมาก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ สีเหลือง มี ๑ ช่อง ออวุล ๒-๔ เม็ด
ผลแบบผลกลุ่ม ผลย่อยแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด มี ๖-๑๒ ผล รูปทรงกระบอก กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๒-๔ ซม. สีเขียว เรียบเป็นมันวาวมีสันนูนรอบผลตามยาว และมีตุ่มที่ปลายผล เปลือกผลหนา ไม่มีก้านผล สุกสีเขียวอมเหลือง มีเมล็ด ๑-๔ เมล็ด สีเทา รูปกลมรี กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. มีเมือกหนาคล้ายวุ้นข้นหุ้ม
ข้าวหลามดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๒๐๐-๙๐๐ ม. เป็นพืชที่ต้องการแสงแดดมาก ออกดอกเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม ผลแก่หลังดอกบาน ๗-๘ เดือน ในต่างประเทศพบที่ลาวและพม่า
เปลือกโคนต้นและแก่นใช้เป็นสมุนไพร เป็นยาดองบำรุงกำลัง เมื่อเผาหรือย่างเปลือกของลำต้นจะมีกลิ่นหอมเหมือนข้าวหลามสุกใหม่ ๆ.