เครือพู

Argyreia henryi (Craib) Craib

ไม้พูมรอเลื้อย ลำต้นเป็นเหลี่ยม มีขนแข็งเล็ก ๆ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอกแกมรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกที่ซอกใบ ดอกสีขาวอมชมพู ภายในหลอดดอกสีม่วงแดง ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลม สีแดงเข้ม เมล็ดสีนํ้าตาลเข้ม มี ๔ เมล็ด

เครือพูเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย ลำต้นเป็นเหลี่ยมมีขนแข็งเด็ก ๆ

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง ๖-๗ ซม. ยาว ๑๔-๒๐ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนมนกว้างหรือเป็นรูปหัวใจตื้น ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนแข็งประปรายตามเส้นกลางใบ ด้านล่างมีขนแข็งสีนํ้าตาลหนาแน่นแนบชิดกับผิวใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๐ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๒-๖ ซม. มีขนสากประปรายแนบชิดกับก้านใบ

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกที่ซอกใบ มีขนแข็งเด็ก ๆ ตามก้านช่อดอกและก้านดอก ก้านช่อดอกเป็นเหลี่ยมยาว ๓-๙ ซม. ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. ใบประดับร่วงง่าย กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน กลีบเลี้ยงที่อยู่วงนอก ๒ กลีบ รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ปลายมนกลีบที่อยู่วงใน ๓ กลีบ รูปไข่กว้าง ปลายมน ขอบกลีบเรียบ ด้านนอกมีขนหยาบแข็งแนบชิดกับกลีบ ด้านในมีขนหยาบแข็งประปราย กลีบดอกบอบบางเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาว ๓.๕-๕ ซม. ปลายผายออกเป็นรูปปากแตร เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔ ซม. ขอบเว้าตื้น ๕ หยัก กลีบดอกด้านในสีชมพู ด้านนอกสีขาว หลอดดอกด้านในสีม่วงแดง โคนเกลี้ยง แถบเส้นกลางกลีบมีขนหยาบแข็งสีเหลืองอ่อนหนาแน่น เกสรเพศผู้ ๕ เกสร เชื่อมติดกับโคนหลอดดอกและอยู่ภายในหลอดดอก โคนก้านชูอับเรณูขยายใหญ่และมีขนอุย จานฐานดอกรูปถ้วย ขอบเว้าตื้น ๕ หยัก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอด เกสรเพศเมียอยู่ภายในหลอดดอก ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มกลม ๒ ตุ่ม

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๘-๙ มม. สีแดงเข้ม เมล็ดสีนํ้าตาลเข้มเกลี้ยง ยาว ๕-๖ มม. มี ๔ เมล็ด

 เครือพูมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทางภาคเหนือ พบขึ้นตามที่โล่งแจ้งชายป่าในหุบเขาและตามป่าละเมาะ ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๔๐๐-๑,๙๕๐ ม. ออกดอกเดือนกันยายนถึงกุมภาพันธ์ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ (ยูนนาน).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เครือพู
ชื่อวิทยาศาสตร์
Argyreia henryi (Craib) Craib
ชื่อสกุล
Argyreia
คำระบุชนิด
henryi
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant (1882-1933)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา