ตำเสาหนูเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงประมาณ ๙ ม. เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมสีเทาอ่อน เมื่อแก่ล่อนออกเป็นแผ่น กิ่งอ่อนเปลือกสีดำ
ใบเดี่ยว เรียงเวียนชิดกันเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง รูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๑-๓.๕ ซม. ยาว ๓-๑๐ ซม. ปลายแหลม อาจพบบ้างที่ปลายมน โคนสอบเรียว ขอบม้วนลง แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยงหรือมีขนประปราย โคนเส้นกลางใบทางด้านล่างมักมีขนแบบเส้นไหม เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๒๐ เส้น เห็นไม่ชัด มีเส้นขอบในห่างจากขอบใบน้อยกว่า ๑ มม. เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. มีขนสั้นหนานุ่มสีขาว เมื่อแก่เกือบเกลี้ยง หูใบขนาดเล็ก
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ใบประดับและใบประดับย่อยร่วงง่าย ใบประดับย่อยรูปใบหอก ยาวประมาณ ๒ มม. ก้านดอกยาว ๒-๔ มม. กลีบเลี้ยงสีเขียวแกมสีเหลือง โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกรวย ยาว ๓-๔ มม. เกือบเกลี้ยงหรือมีขนแบบเส้นไหมสีขาวหนาแน่น ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยาวประมาณ ๑ มม. ไม่มีก้านเทียม กลีบดอก ๕ กลีบ รูปเกือบกลม สีขาวหรือสีนวล ยาวประมาณ ๒.๕ มม. ร่วงง่าย เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก แยกเป็น ๕ กลุ่ม แต่ละกลุ่มมี ๔-๙ เกสร ติดตรงข้ามกับกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาวได้ถึง ๒.๕ มม. โคนก้านมีขนประปราย แกนกลางอับเรณูมีต่อมขนาดเล็กที่ปลาย รังไข่อยู่กึ่งใต้วงกลีบ ส่วนปลายมีขนแบบเส้นไหมประปราย มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียปลายตัด
ผลแบบผลแห้งแตก แตกเป็น ๓ พู รูปทรงรีแกมทรงรูปไข่ ยาวประมาณ ๕ มม. มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดแบน สีน้ำตาล กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. ปีกมีขนาดเล็ก ผิวย่นละเอียด
ตำเสาหนูมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่าผลัดใบ ป่าดิบ ป่าพรุ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนมิถุนายนถึงมกราคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม.