จิกเขาหลวง

Barringtonia khaoluangensis Chantar.

ไม้ต้นขนาดใหญ่ ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกกลับหรือรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจะคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีชมพูฐานดอกรูปถ้วย

จิกเขาหลวงเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงได้ถึง ๑๘ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกกลับหรือรูปใบหอก กว้าง ๖.๕-๘.๒ ซม. ยาว ๒๑-๒๖ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบและม้วนลง ส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบหยักมนถี่กึ่งจักฟันเลื่อย แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๔-๑๖ เส้น แต่ละเส้นห่างกัน ๑.๑-๒.๗ ซม. ปลายเส้นโค้งจดกันใกล้ขอบใบ ก้านใบยาว ๒-๖ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๘.๕-๑๘ ซม. มี ๘-๒๕ ดอก กระจายห่างกัน แกนกลางช่อมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๕ มม. โดยมีความหนาจากโคนและค่อย ๆ เรียวแคบไปสู่ปลายใบประดับมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่มักเป็นรูปสามเหลี่ยม ดอกสีชมพู ฐานดอกรูปถ้วย ยาว ๕-๖ มม. โคนเชื่อมติดกับก้านดอกรูปแตร ยาว ๒.๘-๓.๕ ซม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ โคนเชื่อมติดกันในดอกตูมปลายมีติ่งแหลม เมื่อดอกบานแยกเป็น ๒ ส่วน รูปใบหอกแกมรูปขอบขนานหรือรูปไข่ กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาว ๑.๓-๑.๗ ซม. กลีบเลี้ยงติดทน กลีบดอก ๔ กลีบ รูปขอบขนาน กว้าง ๑-๑.๒ ซม. ยาวประมาณ ๓ ซม. แต่ละกลีบปลายมน โคนค่อนข้างหนา ร่วงง่ายเกสรเพศผู้จำนวนมาก ยาว ๓.๘-๔ ซม. เรียงเวียนเป็น ๔-๕ ชั้น ร่วงง่าย โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๑.๕-๔ มม. และติดอยู่กับโคนกลีบดอก อับเรณูรูปค่อนข้างกลม กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. ชั้นที่อยู่ด้านในมักเป็นหมัน รูปขอบขนาน แบน กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๓.๒-๓.๔ ซม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบมี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒-๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๕-๕.๕ ซม. โคนมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๓ มม. และสอบเรียวไปสู่ปลาย ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก

 จิกเขาหลวงเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเล ๙๐๐-๑,๐๐๐ ม. ดอกบานเดือนพฤษภาคม ยังไม่มีข้อมูลการติดผลในประเทศไทย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จิกเขาหลวง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Barringtonia khaoluangensis Chantar.
ชื่อสกุล
Barringtonia
คำระบุชนิด
khaoluangensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Chantaranothai, Pranom
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1955-)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ